รอง อธส ลงพื้นที่เปิดประชุมเชื่อมโยงเครือข่าย ศพก.และแปลงใหญ่ ในอำเภอขุนหาญ

              นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายคณะกรรมการ ศพก. แปลงใหญ่ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาเกษตรกร โดยยึด “คน พื้นที่ สินค้า” ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย

1) การแบ่งกลุ่มอภิปรายแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร

2) การเสวนาหัวข้อ “บทบาทของเครือข่าย ศพก. แปลงใหญ่ ต่อการพัฒนาเกษตรกร”

3) การจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเครือข่าย

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้มีการติดตาม และรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินโครงการที่สำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น

-มาตรการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง

-มาตรการป้องกันปัญหาและลดผลกระทบจากภัยแล้ง

-การรณรงค์ลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร

-สถานการณ์การผลิตไม้ผลที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการส่งออกผลไม้

.

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า “จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร โดยมีผลงานดีเด่นในระดับประเทศหลายผลงาน ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเกิดจากการบูรณาการ การร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานภาคีเครือข่ายการพัฒนา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และที่สำคัญที่สุดก็คือ พี่น้องเกษตร ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนงานด้านเกษตร กิจกรรมในวันนี้ ทำให้ทุกกลุ่มได้มาพบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุยกัน และท่านคงจะได้จับมือเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายก้าวเดินไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน”

“และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ดังที่ทราบกันดีว่า ในขณะประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม ทั้งเรื่องผลกระทบจากภัยแล้ง สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาตอซังข้าว การควบคุมและเฝ้าระวังป้องกันการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง รวมทั้งปัญหาการส่งออกผลไม้ ซึ่งทุกเรื่องที่กล่าวมานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกรทั้งสิ้น จึงนับเป็นโจทย์สำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่อเกษตรกรต่อไป”

งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่(Field Day)

          นายนพ พงศ์พลาดิสัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่(Field Day) และกิจกรรมสู่ขวัญทุเรียนดินภูเขาไฟอำเภอขุนหาญ   ณ ศูนย์กระจายสินค้า (ล้งทุเรียน) หมู่ที่ 10 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

          โดยนายอำเภอขุนหาญได้กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ การตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้บริการทางการเกษตรและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่และเป็นการประชาสัมพันธ์ทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเกษตรกรได้นำทุเรียนมาปลูกในพื้นที่อำเภอขุนหาญจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณปี พ.ศ.2528     มีต้นทุเรียนอายุเก่าแก่กว่า 30 ปี โดยเกษตรกรที่ไปรับจ้างทำสวนในภาคตะวันออกนำต้นทุเรียนกลับมาปลูกที่อำเภอขุนหาญ และส่วนราชการได้เข้าร่วมสนับสนุน ปรากฏว่า ทุเรียนเจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี เนื่องจากดินแหล่งที่ปลูกนี้เป็นดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลล์ มีธาตุชนิดต่างๆที่จำเป็นต่อพืชปริมาณสูงและครบถ้วน  ทำให้ทุเรียนมีคุณสมบัติดีเด่นและมีคุณสมบัติเฉพาะคือ  เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน จึงทำให้ผู้ได้ลิ้มชิมรสแล้วรู้ถึงรสชาติที่อร่อยไม่เหมือนใคร อาจกล่าวได้ว่าเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย  ดังนั้นอำเภอขุนหาญจึงได้จัดงานนี้ขึ้น

วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้

  1. เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน
  2. เพื่อรักษาชื่อเสียงความเป็นทุเรียนดินภูเขาไฟให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
  3. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของทุเรียนภูเขาไฟให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
  4. เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชมีคุณที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดจึงต้องมีกิจกรรมสู่ขวัญทุเรียน

งานรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวและปลูกพืชปุ๋ยสด

นายพนม   คงสีไพร เกษตรอำเภอขุนหาญ ผู้จัดงานรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวและปลูกพืชปุ๋ยสด ได้กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา โดยจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าข้าว รักษาสภาพแวดล้อม และกรมการข้าวได้ดำเนินการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สร้างสังคมที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่อไป โดยภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อไป รวมถึงความต้องการของตลาดอินทรีย์ในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้นตามกระแสการรักษาสุขภาพ แต่ปริมาณสินค้าอินทรีย์ไม่เพียงพอ ต่อการจำหน่าย ซึ่งในส่วนของเกษตรกรมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ จึงส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน Organic Thailand เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าข้าวให้มีคุณภาพ  และปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดศรีสะเกษ ในการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์และส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ (ข้าว) สำนักงานเกษตรอำเภอ  ขุนหาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจัดงานรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวและปลูกพืชปุ๋ยสด ณ แปลงนา ผู้ใหญ่สมจิตร นำพา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกกลุ่มส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่บ้านขี้เหล็ก หมู่ 16 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ 

การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายคมป์ สังข์วงษ์ นายอำเภอขุนหาญเป็นประธานในการเปิดพิธีรณรงค์การไถกลบตอซัง และหว่านปุ๋ยพืชสด

การไถกลบตอซังข้าวเป็นการสนองมาตรการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของกระทรวงมหาไทยตามมาตรการ การป้องและเฝ้าระวังการเผาซากหรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร กระทรวงเกษตร  และสหกรณ์ โดยการรณรงค์ไม่เผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด 

   

          การจัดงานวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

          ๑. เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของฟางข้าว ด้วยการไถกลบตอซังข้าว เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ลด ละ เลิก การเผาตอซังเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

          2. การไถกลบตอซังข้าวเป็นการสนองมาตรการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของกระทรวงมหาไทยตามมาตรการ การป้องและเฝ้าระวังการเผาซากหรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการรณรงค์ไม่เผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด    

         3. เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานสินค้าข้าวมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้ผลิตผู้บริโภค

         4. เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ (ข้าว) /โครงการเกษตรอินทรีย์

          ผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพราน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ทุกแห่งในอำเภอขุนหาญ พี่น้องชาวบ้านขี้เหล็กทุกท่าน   รวมทั้งสิ้น จำนวน  150 คน

          ภายในการจัดงานในวันนี้ มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

          1. การหว่านพืชปุ๋ยสด

           2. การสาธิตการไถกลบตอซัง

มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63

          ศรีสะเกษ ได้รับแจ้งจากกรมการค้าภายใน ว่า จากการประชุม หารือร่วมกับผู้ประกอบการค้าข้าว ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมสหกรณ์ สมาคมธนาคารไทย องค์การคลังสินค้า เพื่อประเมินสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกซึ่งมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในขณะนี้ พบว่า มีสาเหตุเนื่องมาจากผลผลิตข้าวนาปี 2562/63 โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ กำลังทยอยเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณลดลงจากเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง อุทกภัย และการระบาดของโรค ไหม้คอรวงข้าว

เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้เห็นชอบกรอบการใช้เงินงบประมาณปี 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,289.86 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติ การใช้เงินแล้ว โดยเป็นมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 (คู่ขนานกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1) วงเงิน 2,572.50 ล้านบาท ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้สินเชื่อเกษตรกรรายบุคคล และสถาบันเกษตรกร เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 1 ล้านตัน ข้าวเปลือก โดยให้ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บตันละ 1,500 บาท วงเงิน 1,500 ล้านบาท และชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 5 เดือน

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวม ข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้าวเปลือก เพื่อจำหน่าย และ/หรือ เพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยในร้อยละ 3 ต่อปี วงเงิน 562.5 ล้านบาท

(3) โครงการชดเชย ดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป้าหมายให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ที่เข้าร่วมโครงการฯ รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรแล้วเก็บเป็นระยะเวลา 2 – 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 วงเงิน 510 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 นี้

สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ เตรียมพร้อมการขึ้นทะเบียน และปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ผู้ปลูกพืชหลังนา ปีการผลิต 2563

      สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ เตรียมพร้อมการขึ้นทะเบียน และปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ผู้ปลูกพืชหลังนา ปีการผลิต 2563  เพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล หากไม่ได้ปรับปรุงสถานภาพติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี จะสิ้นสถานภาพการเป็นเกษตรกร

       วันที่ 7 มกราคม 2563  ที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ  จัดเตรียมความพร้อมการขึ้นทะเบียน และปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา เพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ หากรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร เช่นปี 2562 ที่ผ่านมา

   นายพนม คงสีไพร เกษตรอำเภอขุนหาญ บอกว่าตามที่รัฐบาลเคยมีนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี2561/62 ไร่ละ 600 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือการบริหารจัดการน้ำที่เพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการศัตรูพืชที่สูงขึ้น กว่าฤดูกาลปกติ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพและเป็นการลดภาระค่าครองชีพควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรให้รักษาศักยภาพการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 นึ้งต้องเตรียมพร้อมทั้งบุคคลากร และอุปกรณ์เพื่อให้ทันต่อการรับบริการของเกษตรกรในครั้งนี้

สำหรับทะเบียนเกษตรกร คือข้อมูลของครัวเรือนผู้ประกอบการเกษตร ที่แสดงถึงสถานภาพและการประกอบอาชีพทางการเกษตรของครัวเรือน ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่เปิดให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนเพื่อปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทุกปี เพื่อให้ทางราชการได้รู้ข้อมูลการเพาะปลูกของแต่ละปี ว่าเกษตรกรปลูกพืชอะไร เนื้อที่เท่าไหร่ ไว้เป็นข้อมูลประเมินภาวะผลผลิตของแต่ละปี และนำไปใช้ในการเป็นข้อมูลเพื่อรองรับมาตรการต่างๆ ตามนโยบายของภาครัฐ

          ส่วนข้อมูลปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62  ที่ผ่านมา อำเภอขุนหาญ มีปลูกพืชหลังนา 20,643 ไร่  จำนวนเกษตรกร 2,384 ครัวเรือน คิดเป็นงบประมาณที่ทางรัฐบาลช่วยเหลือ 12,385,800 บาท

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63

นายพนม คงสีไพร เกษตรอำเภอขุนหาญ ประชาสัมพันธ์ ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 วงเงิน 923,332,332.80 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

              กำหนดประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 ที่ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยเริ่มเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2563

               เกษตรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกและแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

               การจ่ายเงิน รัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 19 ธันวาคม 2562 และจะจ่ายต่อไปในทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึงระยะเวลาสิ้นสุดการรับสิทธิตามโครงการฯ คือ 31 ตุลาคม2563 โดยมี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

              ทั้งนี้ ครม.ยังเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร ปี 2562/63 วงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อนละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน วงเงินชดเชย 45 ล้านบาท

             ซึ่งทาง ธ.ก.ส.เป็นผู้จัดสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสากิจชุมชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และหรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมและรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจำหน่ายต่อ แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก

                  นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบมาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เสนอ มีรายละเอียดดังนี้

   1.การบริหารจัดการการนำเข้า โดยกำหนดช่วงเวลาการนำเข้าให้นำเข้าเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม ของทุกปี ยกเว้นองค์การคลังสินค้า (อคส.) หากมีนโยบายให้นำเข้าการควบคุมการขนย้ายในพื้นที่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็น 1 ต่อ 3 การตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2.การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้ผู้รับซื้อต้องแสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้น 14.5% และ 30% พร้อมแสดงตารางการเพิ่มลดราคาตามเปอร์เซ็นต์ความชื้น และกำหนดให้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้นที่มีมาตรฐาน

3.การดูแลความสมดุล โดยแจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บ และการตรวจสอบสต็อก

4.เพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยเชื่อมโยงผลผลิตกับผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ท่านสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ โทรศัพท์ 045-679243 E-mail knunhan_sisaket@doae.go.th