ศรีสะเกษ ได้รับแจ้งจากกรมการค้าภายใน ว่า จากการประชุม หารือร่วมกับผู้ประกอบการค้าข้าว ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมสหกรณ์ สมาคมธนาคารไทย องค์การคลังสินค้า เพื่อประเมินสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกซึ่งมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในขณะนี้ พบว่า มีสาเหตุเนื่องมาจากผลผลิตข้าวนาปี 2562/63 โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ กำลังทยอยเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณลดลงจากเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง อุทกภัย และการระบาดของโรค ไหม้คอรวงข้าว
เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้เห็นชอบกรอบการใช้เงินงบประมาณปี 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,289.86 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติ การใช้เงินแล้ว โดยเป็นมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/63 (คู่ขนานกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1) วงเงิน 2,572.50 ล้านบาท ได้แก่
(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้สินเชื่อเกษตรกรรายบุคคล และสถาบันเกษตรกร เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 1 ล้านตัน ข้าวเปลือก โดยให้ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บตันละ 1,500 บาท วงเงิน 1,500 ล้านบาท และชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 5 เดือน
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวม ข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้าวเปลือก เพื่อจำหน่าย และ/หรือ เพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยในร้อยละ 3 ต่อปี วงเงิน 562.5 ล้านบาท
(3) โครงการชดเชย ดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป้าหมายให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ที่เข้าร่วมโครงการฯ รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรแล้วเก็บเป็นระยะเวลา 2 – 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 วงเงิน 510 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 นี้