รอง อธส ลงพื้นที่เปิดประชุมเชื่อมโยงเครือข่าย ศพก.และแปลงใหญ่ ในอำเภอขุนหาญ

              นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการประชุมเชื่อมโยงเครือข่ายคณะกรรมการ ศพก. แปลงใหญ่ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาเกษตรกร โดยยึด “คน พื้นที่ สินค้า” ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย

1) การแบ่งกลุ่มอภิปรายแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร

2) การเสวนาหัวข้อ “บทบาทของเครือข่าย ศพก. แปลงใหญ่ ต่อการพัฒนาเกษตรกร”

3) การจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเครือข่าย

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้มีการติดตาม และรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินโครงการที่สำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น

-มาตรการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง

-มาตรการป้องกันปัญหาและลดผลกระทบจากภัยแล้ง

-การรณรงค์ลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร

-สถานการณ์การผลิตไม้ผลที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการส่งออกผลไม้

.

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า “จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร โดยมีผลงานดีเด่นในระดับประเทศหลายผลงาน ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเกิดจากการบูรณาการ การร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานภาคีเครือข่ายการพัฒนา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และที่สำคัญที่สุดก็คือ พี่น้องเกษตร ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนงานด้านเกษตร กิจกรรมในวันนี้ ทำให้ทุกกลุ่มได้มาพบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุยกัน และท่านคงจะได้จับมือเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายก้าวเดินไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน”

“และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ดังที่ทราบกันดีว่า ในขณะประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม ทั้งเรื่องผลกระทบจากภัยแล้ง สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาตอซังข้าว การควบคุมและเฝ้าระวังป้องกันการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง รวมทั้งปัญหาการส่งออกผลไม้ ซึ่งทุกเรื่องที่กล่าวมานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกรทั้งสิ้น จึงนับเป็นโจทย์สำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่อเกษตรกรต่อไป”

งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่(Field Day)

          นายนพ พงศ์พลาดิสัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่(Field Day) และกิจกรรมสู่ขวัญทุเรียนดินภูเขาไฟอำเภอขุนหาญ   ณ ศูนย์กระจายสินค้า (ล้งทุเรียน) หมู่ที่ 10 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

          โดยนายอำเภอขุนหาญได้กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ การตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้บริการทางการเกษตรและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่และเป็นการประชาสัมพันธ์ทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเกษตรกรได้นำทุเรียนมาปลูกในพื้นที่อำเภอขุนหาญจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณปี พ.ศ.2528     มีต้นทุเรียนอายุเก่าแก่กว่า 30 ปี โดยเกษตรกรที่ไปรับจ้างทำสวนในภาคตะวันออกนำต้นทุเรียนกลับมาปลูกที่อำเภอขุนหาญ และส่วนราชการได้เข้าร่วมสนับสนุน ปรากฏว่า ทุเรียนเจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี เนื่องจากดินแหล่งที่ปลูกนี้เป็นดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลล์ มีธาตุชนิดต่างๆที่จำเป็นต่อพืชปริมาณสูงและครบถ้วน  ทำให้ทุเรียนมีคุณสมบัติดีเด่นและมีคุณสมบัติเฉพาะคือ  เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน จึงทำให้ผู้ได้ลิ้มชิมรสแล้วรู้ถึงรสชาติที่อร่อยไม่เหมือนใคร อาจกล่าวได้ว่าเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย  ดังนั้นอำเภอขุนหาญจึงได้จัดงานนี้ขึ้น

วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้

  1. เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน
  2. เพื่อรักษาชื่อเสียงความเป็นทุเรียนดินภูเขาไฟให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
  3. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของทุเรียนภูเขาไฟให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
  4. เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชมีคุณที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดจึงต้องมีกิจกรรมสู่ขวัญทุเรียน

งานรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวและปลูกพืชปุ๋ยสด

นายพนม   คงสีไพร เกษตรอำเภอขุนหาญ ผู้จัดงานรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวและปลูกพืชปุ๋ยสด ได้กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา โดยจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าข้าว รักษาสภาพแวดล้อม และกรมการข้าวได้ดำเนินการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สร้างสังคมที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่อไป โดยภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อไป รวมถึงความต้องการของตลาดอินทรีย์ในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้นตามกระแสการรักษาสุขภาพ แต่ปริมาณสินค้าอินทรีย์ไม่เพียงพอ ต่อการจำหน่าย ซึ่งในส่วนของเกษตรกรมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริม การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ จึงส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน Organic Thailand เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าข้าวให้มีคุณภาพ  และปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดศรีสะเกษ ในการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์และส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ (ข้าว) สำนักงานเกษตรอำเภอ  ขุนหาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจัดงานรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวและปลูกพืชปุ๋ยสด ณ แปลงนา ผู้ใหญ่สมจิตร นำพา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกกลุ่มส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่บ้านขี้เหล็ก หมู่ 16 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ 

การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายคมป์ สังข์วงษ์ นายอำเภอขุนหาญเป็นประธานในการเปิดพิธีรณรงค์การไถกลบตอซัง และหว่านปุ๋ยพืชสด

การไถกลบตอซังข้าวเป็นการสนองมาตรการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของกระทรวงมหาไทยตามมาตรการ การป้องและเฝ้าระวังการเผาซากหรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร กระทรวงเกษตร  และสหกรณ์ โดยการรณรงค์ไม่เผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด 

   

          การจัดงานวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

          ๑. เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของฟางข้าว ด้วยการไถกลบตอซังข้าว เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ลด ละ เลิก การเผาตอซังเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

          2. การไถกลบตอซังข้าวเป็นการสนองมาตรการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของกระทรวงมหาไทยตามมาตรการ การป้องและเฝ้าระวังการเผาซากหรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการรณรงค์ไม่เผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด    

         3. เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวให้ได้มาตรฐานสินค้าข้าวมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้ผลิตผู้บริโภค

         4. เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ (ข้าว) /โครงการเกษตรอินทรีย์

          ผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพราน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ทุกแห่งในอำเภอขุนหาญ พี่น้องชาวบ้านขี้เหล็กทุกท่าน   รวมทั้งสิ้น จำนวน  150 คน

          ภายในการจัดงานในวันนี้ มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

          1. การหว่านพืชปุ๋ยสด

           2. การสาธิตการไถกลบตอซัง

การผลิตข้าวอำเภอขุนหาญ

ข้อมูลด้านการเกษตรที่สำคัญ

อำเภอขุนหาญ มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 309,266 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การปลูกข้าว มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในปีเพาะปลูก 2558/2559 รวม 159,534 ไร่ พื้นที่ปลูกยางพารา 61,029 ไร่ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 34,768 ไร่ และทุเรียน 2,582 ไร่ โดยจำแนกพื้นที่ทำการเกษตรที่สำคัญได้ ดังนี้

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ

ที่ ชนิดพืช  จำนวนราย  จำนวนไร่
1 ข้าวนาปี 11,480 159,534
2 ยางพารา 4,232 61,029
3 มันสำปะหลัง 3,164 34,768
4 ทุเรียน 322 2,582

  ที่มา:สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ

ภาพแผนภูมิแสดงข้อมูลการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจของอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

– ข้าว

ตามการจำแนกพื้นที่เขตความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าวของกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกิดจากการนำข้อมูลความเหมาะสมของดินในแต่ละชนิดพืช  มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลปัจจัยการเจริญเติบโตของพืช แบ่งเกณฑ์ความเหมาะสมออกเป็น ๔ ระดับ คือ S1 เหมาะสมมาก,S2 เหมาะสมปานกลาง ,S3 เหมาะสมน้อย และ N ไม่เหมาะสม ซึ่งอำเภอขุนหาญ มีการกำหนดพื้นที่การจัดการตามความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าว ทั้งหมด 201,415 ไร่ เป็นพื้นที่เหมาะสม(S1) 24,163 ไร่ เหมาะสมปานกลาง (S2) 70,622 ไร่ เหมาะสมน้อย (S3) 87,918 ไร่ ไม่เหมาะสม (N) 18,166 ไร่ พบเป็นพื้นที่ป่า 546 ไร่ สามารถจำแนกพื้นที่เป็นรายตำบลได้ ดังนี้

ภาพ  แสดงพื้นที่ความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว อำเภอขุนหาญ

ตาราง   แสดงข้อมูลพื้นที่จำแนกตามความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว อำเภอขุนหาญ

สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน

– ข้าว

อำเภอขุนหาญ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าว(ข้อมูลการเพาะปลูก ปี 2557/58)ทั้งหมด 166,982 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล จำนวนครัวเรือนเกษตรกร 11,234 ครัวเรือน จำแนกพื้นที่เพาะปลูก   เป็นรายตำบล ดังนี้

         ตาราง   แสดงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่ปลูกข้าว อำเภอขุนหาญ

        ที่มา : สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ

ข้อมูลการผลิต

– ข้าว

พื้นที่เพาะปลูกข้าว (ข้อมูลการเพาะปลูก ปี 2557/58) ทั้งหมด 166,982 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล 145 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนเกษตรกร 11,234 ครัวเรือน ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ  ที่มีพื้นที่การเพาะปลูกมากที่สุด เพาะปลูก 1 ครั้ง / ปี ส่วนใหญ่ทำนาโดยอาศัยน้ำฝน เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ผลผลิตที่ได้ 71,802 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 430 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรจะเก็บผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือนบางส่วนที่เหลือจำหน่ายให้ท่าข้าวในพื้นที่ในรูปของข้าวเปลือกสดและแห้ง มีกลุ่มเกษตรกรบางส่วนที่นำผลผลิตเข้าแปรสภาพเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่ายนำรายได้เข้าสู่กลุ่ม เกษตรกรผู้ขายข้าวให้กลุ่มก็จะได้รับราคาข้าวที่สูงกว่าการขายทั่วไป

สภาพการใช้เทคโนโลยีการผลิต

วิธีการปลูกข้าว

1.การเตรียมดิน ส่วนใหญ่จะไถดะหลังจากที่ฝนตกครั้งแรก ทิ้งไว้ 15 – 30 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช แมลงศัตรูพืชและเชื้อโรคพืช จากนั้นเกษตรกรจะไถแปร ปรับระดับ เพื่อง่ายต่อการจัดการน้ำ

2.การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ส่วนใหญ่ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 อัตรา 15 – 20 กิโลกรัม/ไร่

ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105

          1.เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง

2.เป็นข้าวต้นสูงประมาณ 140 – 150 เซนติเมตร

3.อายุเก็บเกี่ยว ข้าวจะออกดอกประมาณวันที่ 20 ตุลาคม และสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ ประมาณวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี

4.ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 8 สัปดาห์

5.ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.5 มิลลิเมตร กว้าง 2.1 มิลลิเมตร หนา 1.8 มิลลิเมตร

6.ลักษณะเมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดเรียวยาว ก้นงอน สีฟาง

ข้อดี

1.มีกลิ่นหอม เมล็ดอ่อนนุ่มเมื่อนำมาหุงต้ม

2.ทนต่อสภาพแล้ง ทนต่อดินเปรี้ยวและดินเค็ม

3.คุณภาพการขัดสีดี เมล็ดข้าวสารใส แข็ง มีท้องไข่น้อย

4.นวดง่าย เนื่องจากเมล็ดหลุดร่วงจากรวงได้ง่าย

5.เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี

ข้อจำกัด

1.ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบหงิกและโรคไหม้

2.ไม่ต้านทานแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

3.ต้นอ่อนล้มง่าย ถ้าปลูกในบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง

3.วิธีการปลูก ส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกข้าวโดยวิธีการหว่านแห้ง

4.การใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 1 ใส่สูตร 16 – 16 – 8 อัตรา 20 – 25 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อข้าวอายุ 20 – 30 วัน หลังข้าวงอก

                        ครั้งที่ 2 ใส่สูตร 46 – 0 – 0 อัตรา 10 – 15 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะกำเนิดช่อดอก หรือหลังใส่ปุ๋ยครั้งแรกแล้ว 30 วัน

          5.โรคที่สำคัญ โรคเน่า

          การป้องกันกำจัด 1. ลดการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนที่มากเกินไป

                              2. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา

                              3. ใช้สารกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม

          6.การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม คือ ระยะที่ข้าวออกดอกแล้วประมาณ 30-35 วัน    โดยรวงจะโน้มลง เมล็ดในรวงมีสีฟางหรือเหลือง โคนรวงมีเมล็ดเขียวบ้างเล็กน้อย ซึ่งเรียกว่า ระยะพลับพลึง เป็นระยะที่ข้าวสุกแก่พอเหมาะ น้ำหนักเมล็ดสูง เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ด ปริมาณมากและคุณภาพการสีดี  เก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเครื่องจักร(รถเกี่ยวข้าว) บางส่วนใช้แรงงานคน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม

          3.1.2 ต้นทุนการผลิต

ผลผลิต

ปริมาณผลผลิตรวม 71,802 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 430 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนจำหน่ายเกษตรกรจะลดความชื้นโดยการตากข้าว

           ปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้ทั้งหมด 71,802 ตัน/ปี แบ่งเป็น

          1.บริโภค 13,367 ตันต่อปี

          2.ทำพันธุ์ 29,221 ตันต่อปี

          3.จำหน่าย 29,214 ตันต่อปี

ข้อมูลการตลาด

– ข้าว

          พื้นที่อำเภอขุนหาญมีแหล่งรับซื้อข้าว 5 แห่ง ปริมาณความต้องการของตลาดรวม 4,050 ตัน/ปี ซึ่งน้อยกว่าปริมาณผลผลิตของเกษตรกร ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายได้ จำนวน 29,214 ตัน/ปี เกษตรกรในพื้นที่อำเภอขุนหาญ จึงนำข้าวไปขายให้แหล่งรับซื้อข้าวในเขตพื้นที่อำเภอใกล้เคียง เช่น อำเภอกันทรลักษ์ ที่เป็นแหล่งใหญ่สามารถรองรับปริมาณข้าวของเกษตรกร ระยะทางไม่ไกลเกินไป และมีความน่าเชื่อถือเรื่องตาชั่งและราคาผลผลิต ส่วนใหญ่เกษตรกรจะจำหน่ายข้าวในรูปของข้าวเปียกมีความชื้นสูง ราคาที่ได้จึงไม่สูงเท่าที่สูง

การวิเคราะห์หาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าอุปสงค์ (Supply) มีมากถึง 29,214 ตัน/ปีเพาะปลูก ส่วนอุปทาน (Demand) ความต้องการของร้านค้าข้าว มีจำนวน 4,050 ตัน ซึ่งเกินความต้องการของตลาด ประมาณ 25,164 ตัน

แหล่งรับซื้อที่มีความสำคัญในอำเภอขุนหาญ มี 5 แห่ง ดังนี้

รวมปริมาณความต้องการผลผลิตของร้านค้ารับซื้อข้าว (Demand) จำนวน 4,050 ตัน

ข้อมูลด้านคน/เกษตรกร

          4.1 สภาพปัญหาความต้องการ

                   – ปัญหาการขาดแคลนตลาดสินค้ากลางและราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

                   – ปัญหาเสื่อมโทรมของดินและน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในด้านการเกษตรกรรม

                   – ปัญหาการทำการเกษตรลงทุนสูง พึ่งพาสารเคมี

                   – ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

                   – ปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ

                   – ปัญหาโรคแมลงทำลายพืช

                   – ปัญหาแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ไม่เพียงพอในฤดูแล้ง

          4.2 ความพร้อมทักษะความชำนาญ

          – การปลูกพืชตรงตามความเหมาะสมของสภาพดิน

          – การใช้เครื่องจักรเพื่อลดการใช้แรงงานคน

          – การใช้พันธุ์/เมล็ดพันธุ์คุณภาพ

          – การดูแลรักษา ใส่ปุ๋ยตรงตามระยะเวลา และปริมาณที่พืชต้องการ

          – แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันละกันเสมอ

Smart Farmer ต้นแบบ

นายไพโรจน์  มีวงศ์ บ้านเลขที่ 161 หมู่ที่ 8 บ้านตาเอกใหม่ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ หมายเลขบัตรประชาชน 3-3308-00552-10-7 มีความชำนาญด้าน

                   1. การผลิตข้าวอินทรีย์ หลากหลายสายพันธุ์

                   2. มีแหล่งจำหน่ายที่แน่นอน ราคาสูงกว่าท้องตลาด

                   3. มีการรวมกลุ่มเกษตรกร

                   4. การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง

องค์กร/สถาบันเกษตรกร

          1. ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลโพธิ์วงศ์ (ศดปช.)

 สถานที่ดำเนินการ  ที่ตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลโพธิ์วงศ์ (ศดปช.)

          บ้านโนนแดง หมู่ที่ 7 ตำบลโพธิ์วงศ์ อำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ สถานที่ดำเนินการ

พิกัดที่ตั้ง ศดปช. พิกัด X: 0442211 พิกัด Y : 1618959

          2. ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลไพร

สถานที่ดำเนินการ  ที่ตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลไพร (ศจช.)

          หมู่ที่ 6 บ้านปุน ตำบลไพร อำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ

พิกัดที่ตั้ง ศจช. พิกัด X : 0437830  พิกัด Y : 1628821

3. ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลพราน

สถานที่ดำเนินการ  ที่ตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลพราน (ศจช.)

          หมู่ที่ 15 บ้านพรานใต้ตะวันตก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ

พิกัดที่ตั้ง ศจช. พิกัด X : 0444766  พิกัด Y : 1614154

          4. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ข้าว)

สถานที่ดำเนินการ  ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ข้าว)

          หมู่ที่ 2 บ้านเดื่อ ตำบลกระหวัน อำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ พิกัดที่ตั้ง ศจช. พิกัด X : 0436166  พิกัด Y : 1622308

การกำหนดพื้นที่เป้าหมายการผลิตสินค้าเกษตร

 – ข้าว

การหาพื้นที่เป้าหมายการผลิตทำโครงการซ้อนทับแผนที่ความเหมาะสมของดิน (Land Suitibility map) กับแผนที่แสดงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land use map) ของข้าว สรุปได้ดังนี้

          พื้นที่เหมาะสม (S1,S2)พื้นที่ 75,485 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.21 ของพื้นที่ทั้งหมด     

พื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) พื้นที่ 91,497 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 54.79 ของพื้นที่ทั้งหมด

ภาพ  แสดงพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกข้าว อ.ขุนหาญ

จากแผนที่การทับซ้อนพื้นที่ระหว่างเขตความเหมาะสม และสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินพบว่า พื้นที่เหมาะสม (S1,S2)และมีการปลูกข้าวจริงจำนวน 75,485 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตำบลสิ ตำบลพราน ตำบลบักดอง ตำบลไพร ตำบลกระหวัน ตำบลภูฝ้าย ตำบลโพธิ์วงศ์ ตำบลห้วยจันทร์ ตำบลขุนหาญ ตำบลโนนสูง         และตำบลกันทรอม ซึ่งจากการวิเคราะห์ความสมดุลอุปสงค์อุปทาน พบว่า ความต้องการรับซื้อของผู้ค้าข้าว ต่ำกว่าปริมาณผลผลิตของเกษตรกรเพื่อจำหน่าย จำนวน 25,164 ตัน/ปี คิดเป็นพื้นที่ปลูกโดยประมาณ 58,520 ไร่

ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการปลูกข้าว 166,982 ไร่ ซึ่งมากกว่าพื้นที่ที่เหมาะสม(S1,S2) สำหรับการปลูกข้าวของอำเภอขุนหาญ และผลผลิตข้าวเกินความต้องการของตลาดผู้ค้าข้าวในพื้นที่ จึงมีแนวทางการส่งเสริมลดผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการรับซื้อ ในเขตพื้นที่เหมาะสม และนอกเขตพื้นที่เหมาะสมดังนี้

1.เพิ่มปริมาณผลผลิต/ไร่ให้สูงขึ้น โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสม(S1,S2) โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร การใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพจากแหล่งน่าเชื่อถือ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต การดูแลรักษา กำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย ควบคุมโรคแมลงศัตรูข้าว การตัดพันธุ์ปนและการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องถูกเวลาเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและผู้ค้าข้าว

2.ลดพื้นที่ปลูกในเขตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตร เช่น ปรับเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย หรือมันสำปะหลัง หรือเพิ่มกิจกรรมในพื้นที่ให้มีความหลากหลาย ปรับทัศนคติให้เกษตรกรเน้นการปลูกข้าวเพื่อบริโภคแทนการปลูกข้าวเพื่อจำหน่าย เช่น การทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรแบบไร่นาสวนผสม เพื่อลดการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวลดความเสี่ยงที่เกษตรกรจะได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

Posted in Uncategorized