ประวัติอำเภอขุนหาญ
ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]
อำเภอขุนหาญตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสำโรงพลัน ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง และตำบลพิงพวย ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลภูเงิน ตำบลกระแชง ตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลซำ ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภออันลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย และอำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร (ประเทศกัมพูชา)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลดงรัก ตำบลโคกตาล อำเภอภูสิงห์ และตำบลปรือใหญ่ ตำบลศรีตระกูล อำเภอขุขันธ์
ประวัติ[แก้]
อำเภอขุนหาญเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่ เป็นพื้นที่ลุ่มของลำห้วยหลายสาขา มีความอุดมสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ก่อนเป็นชาวกุยหรือส่วย (ซึ่งได้สืบเชื้อสายกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน และมีชาวบ้านที่ใช้ภาษากุยหรือส่วยอยู่มากในตำบลโนนสูง ตำบลโพธิ์กระสังข์ และบางส่วนของตำบลกระหวัน) ในยุคต่อมาชาวขอมหรือชนที่ใช้ภาษาเขมรเข้ามาและกระจายกันตั้งบ้านเรือนจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ และสืบสานประเพณีต่อ ๆ กันมา ส่วนผู้คนที่ใช้ภาษาลาวได้เข้ามาภายหลัง ซึ่งสันนิษฐานว่าเข้ามาตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคที่ทางราชสำนักเวียงจันทน์เกิดความวุ่นวายและผู้คนได้อพยพข้ามลำน้ำโขงมาตั้งหลักแหล่งใหม่ ผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแถบนี้ คือ (ตามตำนานและเรื่องบอกเล่าของผู้คนสมัยก่อน) กลุ่มของนายหาญ นายเอก นายอุด ซึ่งทั้งสามคนนี้ได้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือน นายหาญได้ไปตั้งหลักแหล่ง ณ บริเวณที่ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านแดง ตำบลขุนหาญ นายเอกไปตั้งที่บ้านตาเอก (ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตตำบลกันทรอม) ส่วนนายอุดแยกไปไกลทางทิศตะวันตก ตั้งหลักแหล่งที่ปัจจุบันเรียกว่าบ้านตาอุด เขตอำเภอขุขันธ์
ต่อมาบริเวณแถบนี้ ราชสำนักสยามเรียกว่า “เขมรป่าดง” และได้ตั้งเมืองขุขันธ์ขึ้น โดยขึ้นกับเมืองนครราชสีมา และด้วยเหตุนี้นายหาญจึงมีโอกาสเข้าทำราชการและมีบรรดาศักดิ์เป็น “ขุน” หมู่บ้านที่ท่านอยู่จึงถูกเรียกว่า บ้านขุนหาญ จนกระทั่งมีการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ในรูปแบบของจังหวัดและอำเภอ เมืองขุขันธ์จึงถูกยุบเป็นอำเภอขุขันธ์ขึ้นแก่จังหวัดศรีสะเกษ ในระดับตำบล “บ้านขุนหาญ” ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่และเป็นหมู่บ้านใหญ่ จึงได้เอาชื่อ “ขุนหาญ” มาตั้งเป็นชื่อตำบล ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชากรมากขึ้น และเขตรับผิดชอบของอำเภอขุขันธ์ค่อนข้างกว้าง จึงได้ยกเอาตำบลต่าง ๆ ในเขตทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ก่อตั้งสมัยนั้นได้เลือกชัยภูมิที่เป็นเนินสูงและมีแหล่งน้ำใหญ่ (หนองสิ) อยู่ใกล้เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลสิ เดิมทีจะใช้ชื่อกิ่งอำเภอว่า “สิ” ซึ่งฟังแล้วอาจจะไม่เสนาะเท่าใด จึงมีการคิดชื่อกันใหม่ และตกลงกันว่าจะเอาชื่อหมู่บ้านที่เก่าแก่มาตั้งเป็นชื่อกิ่งอำเภอ เมื่อสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่จึงรู้ว่า “บ้านขุนหาญ” ซึ่งอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันตกของที่ตั้งกิ่งอำเภอ เป็นชุมชนเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้ยกเอาชื่อ “ขุนหาญ” มาเป็นชื่อกิ่งอำเภอ โดยที่ตั้งไม่ได้อยู่ในเขตตำบลขุนหาญแต่อย่างใด ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นอำเภออย่างสมบูรณ์
ด้วยความหลากหลายของผู้คนหลายเหล่าที่โยกย้ายมาตั้งหลักแหล่งในบริเวณเดียวกัน อำเภอขุนหาญจึงมีทั้งผู้คนที่ใช้ภาษาเขมร ภาษาส่วย และลาวหรืออีสาน อาศัยอยู่กระจัดกระจาย โดยมีประชากรที่ใช้ภาษาเขมรในสัดส่วนที่มากที่สุด ส่วนภาษาลาวนั้นมี 2 สำเสียง คือ
- สำเนียงดั้งเดิมของลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากนายหาญ นายเอก และนายอุด ซึ่งกลายเป็นสำเนียงเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ
- สำเนียงอุบล ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าผู้คนที่ใช้ภาษาลาวสำเนียงอุบลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอขุนหาญเมื่อใด แต่แน่ชัดว่าเป็นชนกลุ่มหลังสุดที่เข้ามาทำมาหากินในบริเวณนี้ ผู้ที่เข้ามาก่อนตั้งบ้านเรือนในเขตตำบลสิ ส่วนชาวลาวสำเนียงอุบลที่มาหลังสุดไปตั้งหมู่บ้านต่างๆ ที่มีชื่อนำหน้าว่า “ซำ” ในเขตตำบลพราน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำไร่พืชผลชนิดต่าง ๆ การอยู่รวมกันและติดต่อแลกเปลี่ยนกันของชนหลายเหล่าในเขตอำเภอขุนหาญทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและซึมซับวัฒนธรรมระหว่างกัน ขนบธรรมเนียมบางอย่างจึงแตกต่างออกไปจากผู้คนในเขตอื่นของจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะผู้คนที่ใช้ภาษาลาวจะรับเอาขนบธรรมเนียมบางอย่างของชาวเขมรและชาวส่วยเข้าแทรกในธรรมเนียมของตน
ที่มาของอำเภอขุนหาญ[แก้]
“ขุนหาญ” เป็นชื่อของชาวเวียงจันทน์ซึ่งเป็นทหารมาพร้อมกับกองทัพพระเจ้าอนุวงศ์บุตรเจ้าศิริบุญสารผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ในขณะนั้นเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นของไทยและต้องการแยกเป็นเอกราช เจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชบุตรโย้จึงได้ยกกองทัพเมืองเวียงจันทน์และกองทัพเมืองจำปาศักดิ์ลงมาเพื่อตีกรุงเทพฯ และเพื่อนำเอาเชลยศึกชาวลาวที่ถูกสยามกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยธนบุรีกลับคืนบ้านเมือง ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 กองทัพลาวได้ยกทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา (โคราช) ขณะนั้นเจ้าพระยามหานครราชสีมาไม่อยู่ และพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาไปราชการเมืองขุขันธ์ ทัพลาวจึงเข้ายึดเมืองได้ ยึดเอาทรัพย์สิน และให้พระยารามพิชัยกวาดต้อนชาวเมืองโคราชไปเป็นเชลยศึกเพื่อจะนำไปยังเมืองเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ยังได้สั่งให้ทัพหน้าไปกวาดต้อนเอาชาวลาวเวียงที่เมืองปากเพรียว (สระบุรี) เพื่อนำกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์อีกด้วย ในบรรดาเชลยศึกมี คุณหญิงโม (ชาวลาวเรียกว่าคุณหญิง “โม้”) รวมอยู่ด้วย คุณหญิงโมเป็นหญิงฉลาดรู้ทันว่าเจ้าอนุวงศ์หลอกลวง จึงออกอุบายให้ทหารเวียงจันทน์ตายใจโดยให้หญิงไทยที่ถูกต้อนมาด้วยที่เป็นเชลยยั่วยวนหน่วงเหนี่ยวทหารให้เดินทัพช้าลง วางแผนให้พวกผู้หญิงหลอกขอจอบ เสียม มีด ใช้ซ่อมเกวียนและทำอาหาร แท้จริงแล้วกลับนำจอบ เสียม มีด นั้น มาลอบตัดไม้เป็นอาวุธแอบซ่อนไว้ ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 ณ ทุ่งสัมฤทธิ์แขวงพิมาย ขณะพักเป็นโอกาสเหมาะที่พวกผู้หญิงช่วยกันหลอกล่อมอมเหล้าทหารลาวจนเมามายไร้สติไปทั้งกองทัพ พอสบโอกาสทั้งหญิงชายก็แย่งอาวุธฆ่าฟันจนทหารล้มตายเป็นจำนวนมากจนกองทัพลาวแตกพ่ายแพ้ไป เมื่อชาวโคราชได้รับชัยชนะจึงตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ชาวบ้านที่หนีไปทราบข่าวก็ออกมาร่วมสมทบ ขณะเดียวกันพระยาปลัดเมืองที่ไปราชการเมืองขุขันธ์ก็ยกทัพกลับตามมาช่วยทันเวลา ส่วนเจ้าอนุวงศ์รู้ข่าวว่าทางกรุงเทพฯยกทัพขึ้นมาช่วยจึงเลิกทัพไป มีทหารลาวบางกลุ่มไม่ยอมกลับเวียงจันทน์โดยเฉพาะกลุ่มของ “นายหาญ” มาตั้งรกรากอยู่บ้านแดง ต.ขุนหาญ อ.ขุนหาญ ในปัจจุบัน และต่อมาได้ไปรับราชการกับพระยาขุขันภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ เนื่องจาก “นายหาญ” เป็นคนเฉลียวฉลาดอาจหาญ มีปฏิภาณไหวพริบ มีคนเกรงขาม ด้วยความสามารถดังกล่าวจึงได้รับตั้งบรรดาศักดิ์เป็น “ขุน” ขุนหาญ เมื่อเกษียณอายุราชการ ก็ได้กลับมาอยู่บ้านเดิม และ ขณะนั้นได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านให้เป็นตำบลจากทางราชการพร้อมเลือกกำนัน ขุนหาญได้รับเลือกจากราษฏรเป็นกำนันคนแรกตั้งชื่อว่า”ตำบลขุนหาญ” ต่อมาทางราชการได้แยกการปกครองให้เป็น “กิ่งอำเภอ” จึงได้นำชื่อ “กิ่งอำเภอขุนหาญ” มาเป็นชื่ออำเภอ “อำเภอขุนหาญ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 จนถึงปัจจุบัน
การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]
อำเภอขุนหาญแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 12 ตำบล 145 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | สิ | (Si) | 14 หมู่บ้าน | 7. | ขุนหาญ | (Khun Han) | 9 หมู่บ้าน | ||||||||||||
2. | บักดอง | (Bak Dong) | 22 หมู่บ้าน | 8. | โนนสูง | (Non Sung) | 9 หมู่บ้าน | ||||||||||||
3. | พราน | (Phran) | 20 หมู่บ้าน | 9. | กันทรอม | (Kanthrom) | 13 หมู่บ้าน | ||||||||||||
4. | โพธิ์วงศ์ | (Pho Wong) | 8 หมู่บ้าน | 10. | ภูฝ้าย | (Phu Fai) | 8 หมู่บ้าน | ||||||||||||
5. | ไพร | (Phrai) | 11 หมู่บ้าน | 11. | โพธิ์กระสังข์ | (Pho Krasang) | 14 หมู่บ้าน | ||||||||||||
6. | กระหวัน | (Krawan) | 12 หมู่บ้าน | 12. | ห้วยจันทร์ | (Huai Chan) | 5 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]
ท้องที่อำเภอขุนหาญประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลขุนหาญ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลโนนสูงและบางส่วนของตำบลสิ
- เทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์กระสังข์ทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลกระหวัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกระหวันทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลกันทรอม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกันทรอมทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลสิ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสิทั้งตำบล (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลขุนหาญ)
- เทศบาลตำบลโนนสูง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนสูงทั้งตำบล (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลขุนหาญ)
- เทศบาลตำบลเมืองขุนหาญ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลขุนหาญทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลพราน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพรานทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลไพร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไพรทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์วงศ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์วงศ์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยจันทร์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบักดองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลภูฝ้าย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลภูฝ้ายทั้งตำบล
สถานศึกษา[แก้]
- ระดับมัธยมศึกษา ม.1 – ม.6
- โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์
- โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา
- โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
- โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา
- โรงเรียนโพธิ์วงศ์วิทยา
- โรงเรียนมัธยมบักดองวิทยา
- โรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา
- โรงเรียนนาแก้ววิทยา
- โรงเรียนขยายโอกาส อนุบาล 1 – ม.3
- โรงเรียนอนุบาลขุนหาญ (สิ)
- โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ
- โรงเรียนบ้านตาเอก
- โรงเรียนบ้านหนองจิก
- โรงเรียนวัดโพธิ์น้อย
- โรงเรียนบ้านโคกระเวียง
- โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์
- โรงเรียนบ้านสิริขุนหาญ
- วิทยาลัยการอาชีพ
วิทยาลัยการอาชีพขุนหาญ
สถานพยาบาล[แก้]
- โรงพยาบาลขุนหาญ
- โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยขุนหาญ
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพธิ์กะสังข์ (เขตตำบลโพธิ์กะสังข์)
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองบัว (เขตตำบลโนนสูง)
สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]
- วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด) ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลขุนหาญ สิ่งปลูกสร้างภายในตกแต่งด้วยขวดแก้วหลากสีหลายแบบนับล้านใบที่ชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาค เป็นวัดที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา โดยเฉพาะศาลาใหญ่ที่เรียกว่า ศาลาฐานสโม มหาเจดีย์แก้ว และนอกจากนี้ยังมีสิมน้ำ (โบสถ์) ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งมีความวิจิตรงดงามมาก
- ปราสาทตำหนักไทร (ปราสาททามจาน) ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2127 (ต่อทางของเทศบาลตำบลขุนหาญควบคุม-สำโรงเกียรติ) ห่างจากอำเภอขุนหาญ 20 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัด 81 กิโลเมตร เป็นปราสาทอิฐหลังเดียวบนฐานศิลาทราย ก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเข้าออกได้ด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้า อีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก คือ สลักเป็นรูปบานประตูลงในเนื้ออิฐ บริเวณทางเข้ามีสิงห์จำหลักสองตัว เฉพาะด้านหน้ากรอบประตูเป็นหินทราย แต่เดิมเคยมีทับหลังเป็นภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีพระชายาลักษมี นั่งอยู่ที่ปลายพระบาท และมีพระพรหมผุดมาจากพระนาภี สองข้างพระพรหมเป็นรูปฤๅษีและบุคคลนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ปราสาทตำหนักไทรเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16–17
- น้ำตกสำโรงเกียรติ (น้ำตกปิศาจ) ตั้งอยู่ที่บ้านสำโรงเกียรติ มีต้นกำเนิดจากภูเขากันทุงในทิวเขาพนมดงรัก เป็นน้ำตกขนาดกลาง ตกจากหน้าผาสูง 8 เมตร มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ เหนือน้ำตกเป็นธารน้ำไหลไปตามลานหิน จะมีความสวยงามในฤดูฝน การเดินทางใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 เมื่อถึงตัวเมืองอำเภอขุนหาญ เลี้ยวตรงมุมที่ว่าการอำเภอ เข้าทางหลวงหมายเลข 2127 ขุนหาญ-สำโรงเกียรติ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ที่ตั้งนำตกอยู่เลยบ้านสำโรงเกียรติขึ้นเขาไปทางทิศใต้อีกเล็กน้อย ห่างจากตัวจังหวัด 81 กิโลเมตร
- น้ำตกห้วยจันทร์ (น้ำตกกันทรอม) มีต้นกำเนิดจากทิวเขาพนมดงรัก บริเวณภูเสลา เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นมาตามชั้นหินก่อนไหลลงสู่ลำห้วยจันทร์เบื้องล่าง มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ บริเวณร่มรื่นด้วยพรรณไม้ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 เข้าตัวเมืองขุนหาญ แล้วแยกไปใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2128 ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงบ้านกระเบาเลี้ยวซ้ายขึ้นไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงโรงเรียนบ้านห้วยจันทร์ เลี้ยวขวาไปอีก 1 กิโลเมตร ก็ถึงที่ตั้งน้ำตก
- หนองสิ (อ่างเก็บน้ำหนองสิ) หนองสิเป็นแหล่งน้ำตามชาติที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค เป็นแหล่งดูพระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของขุนหาญ และเป็นประมงน้ำจืดที่มีธรรมชาติงดงาม
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก
- ปราสาทตำหนักไทร เส้นทางผ่านไปน้ำตกสำโรงเกียรติ
- วัดบ้านขุนหาญ อยู่ห่างจากตัวอำเภอขุนหาญ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 6 กิโลเมตร ( ตามเส้นทางขุนหาญ – โพธิ์กระสังข์ ) วัดบ้านขุนหาญ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านขุนหาญใต้ หมู่ 9 (เดิมตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านขุนหาญ หมู่ 1 ) เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ รองจากวัดตะเคียนราม ต.ตะเคียนราม อ.ภูสิงห์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ วัสดุปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง ภายในบริเวณวัดประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์ศรีขุนหาญ อันเป็นที่สถิตย์ของพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานมาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก รวมถึงหลวงพ่อโตอุตะมะ และสิ่งก่อสร้างที่สวยงามอีกมากมาย อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน ” อนุสาวรีย์ขุนหาญ ” หรือพ่อปู่ขุนหาญ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญของอำเภอขุนหาญ และเป็นที่เคารพ สักการะของชาวอำเภอขุนหาญและประชาชนโดยทั่วไป
การเดินทาง[แก้]
- การเดินทางจากตัวจังหวัดศรีสะเกษไปอำเภอขุนหาญสามารถใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 (ศรีสะเกษ-เขาพระวิหาร) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 [สายแยกทางหลวงหมายเลข 221 (พยุห์) -ขุนหาญ] ผ่านอำเภอพยุห์และอำเภอไพรบึงมายังอำเภอขุนหาญระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร
- จากกรุงเทพใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 และเลี้ยวที่แยกหัวช้าง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111) มายังอำเภอขุนหาญระยะทาง 11 กิโลเมตร