การผลิตทุเรียน สวนลุงคำตา แถมวัน

การปลูกทุเรียน

การเตรียมกล้าพันธุ์

               1. การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการเสียบยอดในสมัยปัจจุบันจะไม่นิยมปลูกด้วยต้นกล้าที่เพาะด้วยเมล็ดโดยตรง เพราะมักทำให้ผลมีลักษณะไม่คงที่ แต่จะเพาะเมล็ดเพื่อใช้เป็นต้นตอในการเสียบยอด และการทาบกิ่งแทน ซึ่งจะทำให้ได้เหง้าหรือลำต้นที่มาจากการเพาะเมล็ด ส่วนลำต้นส่วนปลายจะได้จากกิ่งของลำต้นที่มีลักษณะดี ทำให้ลักษณะผลมีความคงที่ และให้ผลที่เร็วกว่าหลังได้เมล็ดทุเรียนแล้ว ให้คัดแยกเมล็ดที่มีลักษณะอวบใหญ่ ไม่มีรอยกัดแทะของแมลงหรือรอยแผลต่าง และเป็นเมล็ดที่ได้มาจากผลที่สุกเต็มที่ หลังจากนั้น ให้รีบนำมาเพาะได้ทันที มิฉะนั้น โอกาสการงอกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ปกติหลังจากแยกเนื้อแล้วผึ่งให้แห้งเก็บไว้ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์

การเพาะเมล็ดสามารถเพาะในภาชนะหรือเพาะในแปลงก็ได้ วัสดุเพาะที่นิยมใช้ คือ ขุยมะพร้าวหรือแกลบดำผสมกับดิน อัตราส่วน 2:1 หรือ 1:1 ภาชนะที่ใช้อาจเป็นกระถางหรือถุงพลาสติกเพาะกล้าไม้หลังจากเตรียมถุง และวัสดุเพาะแล้ว ให้ฝังเมล็ดลงลึกในถุงประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร โดยให้วางเมล็ดด้วยการเอาด้านที่ติดกับแกนผลคว่ำลงหากเพาะในแปลง ควรให้เมล็ดห่างกันประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อให้เมล็ดงอกได้สะดวก หากเพาะใส่ถุง ให้วางเรียงในแปลงเพาะที่กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามต้องการ แปลงเพาะควรอยู่ในที่มีร่มเงาพอสมควร หากถูกแดดจัดจะทำให้อัตราการงอกลดลง แต่ไม่ควรปิดทึบ ต้องให้ลมผ่านได้สะดวก เมล็ดจะงอกภายใน 3 วัน รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ เมื่อทุเรียนมีใบจริง 4 ใบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากเพาะก็สามารถย้ายปลูกหรือใช้สำหรับเสียบยอดต่อได้

               2. การขยายพันธุ์ด้วยการตอน เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด และเสียบยอดมากกว่า แต่วิธีนี้จะได้ต้นที่ให้ผลเร็ว ผลมีลักษณะเหมือนกับต้นแม่ ช่วงที่เหมาะสมในการตอนคือ ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

               การเลือกกิ่งตอน

               1. ควรเป็นกิ่งไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป กิ่งมีใบแก่ 1-3 ใบ ขึ้นไป ควั่นกิ่ง และตอนให้กิ่งยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร

               2. ควรเลือกกิ่งกระโดง (กิ่งตั้งตรงขึ้น) เพื่อรากจะได้งอกรอบกิ่ง

               3. ควรเลือกกิ่งที่อยู่รอบนอกที่สามารถรับแสงแดดได้ดี แต่ไม่ควรเป็นกิ่งที่ถูกแดดจัดหรืออยู่ในร่มมากเกินไป เพราะจะทำให้รากงอกช้า

               วิธีการตอน

               1. ควั่นกิ่งเป็นรอบ 2 รอบ ห่างจากยอดประมาณ 60 เซนติเมตร ควั่นเป็นแผลกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร

               2. แกะวงเปลือกนอกให้หมด ใช้มีดขูดบริเวณที่ลอกเปลือกออกเบาๆ เพื่อทำลายเยื่อเจริญซึ่งทำหน้าที่สร้างเปลือกขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งนี้ ควรระวัง หากขูดเนื้อไม้แรงเกินไป จะทำให้ท่อน้ำลำเลียงเสียหายทำให้ยอดเหี่ยวตายได้

               3. ใช้สารเร่งรากทาบริเวณขอบเปลือกติดกับรอยควั่นตอนบน

               4. ใช้ขุยมะพร้าวชุบน้ำพอชุ่ม แล้วหุ้มรอยควั่นเป็นกระเปราะ

               5. ใช้ผ้าพลาสติกตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง และยาวที่พอหุ้มกระเปาะไว้ได้ วิธีการหุ้มให้จัดขอบพลาสติกที่อยู่ตรงข้ามให้ตรงกัน แล้วม้วนผ้าจนมิดกระเปราะ แล้วใช้ลวดหรือเชือกพันรัดปลาย 2 ข้าง ให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้ไอน้ำลอดออกมาได้

               วิธีการปลูก

                เกษตรกรในภาคกลางมักปลูกทุเรียนแบบยกร่อง ส่วนเกษตรกรในภาคตะวันออก และภาคใต้มักปลูกในสวนแบบไม่ยกร่อง ระยะปลูก 8×12 เมตร ขุดกว้าง 1×1 เมตร ด้วยวิธีการปลูก 2 วิธี คือ

               1. การปลูกแบบขุดหลุม เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำไม่เพียงพอ

               2. การปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ฝนตกชุกหรือพื้นที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง

               วิธีปลูกแบบขุดหลุม

               1. ขุดหลุมขนาด กว้าง ยาว ลึก ประมาณ 30x30x50 เซนติเมตร

               2. ผสมดินกับปุ๋ยคอกหรือเศษวัสดุอินทรีย์รองก้นหลุม

               3. ใช้มีดกรีดถุงต้นพันธุ์ แล้วคลี่เปิดให้เห็นดินก้นถุง แล้วตัดดิน และรากที่พันขดบริเวณ  ก้นถุงออก

               4. วางต้นพันธุ์ โดยให้ถุงลงลึกด้านล่างจากผิวดิน 2-3 เซนติเมตร และให้รอยต่อของยอดเสียบสูงกว่าระดับดิน

               5. กลบดินโดยรอบ และอัดดินให้แน่นพอประมาณ

               6. ใช้ไม้ปักเสียบ แล้วผูกยึดต้นกล้าติดไว้ป้องกันการล้ม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

               วิธีปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก

               กรณีนี้ ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากเกษตรกรจะใช้การจัดการด้านอื่นที่ช่วยป้องกันปัญหาน้ำขังหรือน้ำท่วมแทน เช่น การขุดร่องรอบแปลง หรือ ใช้วิธีการปลูกแบบยกร่องแทนวิธีนี้ทำได้โดยการขุดดินพูนเป็นกองให้สูง ก่อนจะนำต้นกล้ามาปลูกบนกองดินที่เตรียมไว้ และเมื่อต้นกล้าใหญ่ขึ้นจะต้องขุดดินพูนเป็นกองให้อย่างต่อเนื่องเป็นปีๆไป

               การให้น้ำ

               ทุเรียนในระยะแรก หากฝนไม่ตกจะให้น้ำทุกวัน แต่อย่าให้แฉะมาก และให้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันนาน 1-2 เดือน หลังจากนั้นอาจให้เป็นวันเว้นวันหรือ 2 วันครั้งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื้นของดิน

สำหรับทุเรียนที่ให้ผลแล้ว เมื่อถึงฤดูที่ไม่มีฝน ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ แต่หากปลูกในพื้นที่แล้งจัดหรือดินเป็นทรายมากก็จะให้เป็นบางครั้งเพื่อไม่ให้ใบเหี่ยว การให้น้ำจะถี่มากขึ้นในทุกพื้นที่ เมื่อเมื่อทุเรียนออกดอก แล้วให้ตามปกติ 5-7 วัน/ครั้ง แต่หลังดอกบานแล้ว ให้ลดปริมาณน้ำที่ให้ลง เพื่อป้องกันการร่วงของดอก หลังจากดอกผสมติดแล้ว ประมาณ 10-15 วัน หลังดอกบาน จึงค่อยให้น้ำตามปกติจนถึงระยะที่ผลเริ่มแก่ แล้วค่อยลดปริมาณน้ำลงอีกครั้ง

               การทำโคน

                ระยะแรกเมื่อทุเรียนอายุได้ 8-10 เดือน ดินบริเวณตามโคนต้นจะเริ่มจับตัวแข็งทำให้น้ำ และแสงสว่างผ่านลงไปในดินได้ไม่สะดวก ควรเอาจอบฟันดินรอบๆบริเวณรอบโคน เพียงตื้นๆ แต่อย่าฟันให้ใกล้โคนต้นนักเสร็จแล้วหาหญ้าแห้งหรือฟางคลุมบริเวณโคนที่ได้พรวดแล้ว อย่าให้ถูกแสงมากนัก เพราะจะกระทบกระเทือนถึงระบบรากได้ เมื่อทุเรียนอายุมากกว่า 1 ปีแล้ว การเจริญเติบโตทั้งรากและลำต้นจะมีมากขึ้น ก็จำเป็นต้องพรวดดินเป็นประจำทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง คือ ช่วงปลายฝนและต้นฝนเมื่อพรวดดินแล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วต้นละประมาณ 20 – 30 กก. เพื่อให้ดินร่วนซุยขึ้น หากพบรากทุเรียนโผล่พ้นดินควรกลบรากเสียด้วย

               การใส่ปุ๋ย

               1. ทุเรียนเล็กที่ยังไม่ให้ผลจะต้องพรวดดินให้ร่วนซุยอยู่เสมอ และใส่ปุ๋ยไปในตัวด้วย อาจใส่ปุ๋ยโดยการหว่านรอบโคนห่างโคนต้นประมาณ 1 ศอก แล้วพรวนดินกลบ หรืออาจใช้วิธีเจาะเป็นรูแล้วค่อยโรยปุ๋ยใส่ก็ได้ หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วให้รดน้ำเสมอ ปุ๋ยที่ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12

                         – ปีที่ 1 ใส่ 500 กรัม/ต้น/ปี

                         – ปีที่ 2 ใส่ 1 กก. /ต้น /ปี

                         – ปีที่ 3 ใส่ 1 กก.ครึ่ง/ต้น/ปี

                         – ปีที่ 4 ใส่ 2 กก./ต้น/ปี

โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ละเท่ากัน คือ ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน และประมาณ เดือนสิงหาคมถึงกันยายนพร้อม ๆ กับการทำโคนทุเรียน แต่สูตรปุ๋ยบางคนใช้ปุ๋ยสูตร 16-20 ผสมกับ โปแตสเซี่ยม แทนซื้อปุ๋ยจาก อตก. ซึ่งราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก

               2. ทุเรียนใหญ่ให้ผลแล้ว ก่อนทุเรียนออกดอกประมาณ 2 เดือน ก็ราวเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน ควรทำโคนและใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น หลังจากเก็บผลแล้วตัดแต่งกิ่งทำความสะอาดโคนใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 2-3 กก./ต้น การใส่ปุ๋ยควรใส่บริเวณทรงพุ่มห่างโคนทุเรียนอย่างน้อย 1 ศอกและยื่นออกไปจากทรงพุ่มประมาณ 1 คืบ ในช่วงการตัดแต่งกิ่งอาจใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไปด้วยประมาณ 20-30 กิโลกรัม/ต้น โดยมีข้อควรระวัง คือ

                         1. อย่าใส่ชิดโคนต้น

                         2. ใส่ปุ๋ยให้กระจายโคนต้น

                         3. ควรเป็นปุ๋ยที่แห้งสนิทหรือสลายตัวแล้ว

เมื่อทุเรียนอายุมากกว่า 1 ปี แล้วการเจริญเติบโตทั้งราก และลำต้นจะมีมากขึ้นก็จำเป็น ต้องพรวนดินแล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว ต้นละประมาณ 20-30 กิโลกรัม เพื่อให้ดินร่วนซุยขึ้น หากพบรากทุเรียนโผล่พ้นดินกลบรากเสียด้วย

               การตัดแต่งกิ่ง

               1. ทุเรียนเล็กยังไม่ให้ผล ในระยะที่ทุเรียนยังเล็กอยู่ บางต้นจะมีกิ่งแซงขึ้น เป็นกิ่งยอดอีกกิ่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “กิ่งแข่ง” ควรตัดยอดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งให้เหลือไว้เพียงยอดเดียว ควรเอากิ่งล่างไว้สูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร ไม่ควรปล่อยให้ทรงพุ่มทึบจนเกินไป การตัดแต่งกิ่งจะช่วยแต่งทรงพุ่มให้เหมาะสมได้ ควรตัดกิ่งกระโดง กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมดอุปกรณ์ที่ใช้ตัดควรสะอาดและมีความคมเพียงพอ ถ้าเป็นกิ่งใหญ่ ควรใช้กรรไกรหรือเลื่อยตามความเหมาะสม การเลื่อยควรเลื่อยด้านล่างก่อน แล้วจึงเลื่อยด้านบนเพื่อป้องกันการฉีกขาดของกิ่ง รอยแผลที่ตัดแล้วควรทาด้วยปูนขาว ปูนกินหมากหรือยากันรา เช่น คูปราวิท

               2. ทุเรียนโตที่ให้ผลแล้ว การตัดแต่งกิ่งทุเรียนที่ให้ผลแล้วจะทำ 3 ระยะด้วยกัน

                         – ตัดแต่งกิ่งใหญ่ครั้งแรก หลังจากเก็บเกี่ยวผลเรียบร้อยแล้วควรตัดแต่งกิ่งแห้งกิ่งแขนงที่ไม่มีประโยชน์ กิ่งเป็นโรคขั้วผลทุเรียนที่ติดค้างอยู่เพื่อทุเรียนจะได้แตกกิ่งออกมาใหม่

                         – หลังจากนั้นประมาณเดือนสิงหาคม – กันยายน ก่อนทำการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 จะทำการตัดแต่งกิ่งตะขาบ กิ่งน้ำค้าง กิ่งกระโดง กิ่งเป็นโรคอื่น ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ออกเพื่อให้ทุเรียนได้ใช้ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์เต็มที่

                         – ครั้งสุดท้ายหลังจากที่ทุเรียนติดผล แล้วขนาดของผลทุเรียนประมาณเท่าผลส้มเขียวหวาน ควรทำการตัดแต่งกิ่งเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง หรือพร้อมๆ กับการตัดแต่งผลเพื่อให้การส่งอาหารไปเลี้ยงผลที่ต้องการได้อย่างเต็มที่

               การกำจัดวัชพืช

                วัชพืชจะแย่งน้ำ และอาหาร ทำให้ทุเรียนได้รับอาหารได้ไม่เต็มที่ มักเป็นปัญหามากสำหรับทุเรียนเล็ก เช่น หญ้าหวาย หญ้าคา การกำจัด ปกติจะใช้วิธีตัดหรือใช้จอบถาก แต่จะตัดให้เหลือพืชเพื่อคลุมดินบ้างหรือหากถากหญ้าออกหมดก็จะวางกองคลุมหน้าดินไว้ ยกเว้นบริเวณโคนต้นที่ห่างออกมาประมาณ 1 คืบ ควรถากวัชพืชออกให้หมด

               การเก็บผลทุเรียน

 ทุเรียนบนต้นที่ถึงระยะ ที่เหมาะสำหรับการเก็บผล ซึ่งจะต้องเก็บก่อนถึงระยะสุกขณะขนส่ง โดยใช้การสังเกต หรือใช้หลักการ ดังนี้

               1. การนับอายุ เริ่มตั้งแต่ดอกบานจนเก็บเกี่ยวได้

                         – พันธุ์เบา เช่น พันธุ์กระดุม พันธุ์ชะนี พันธุ์ลวง เก็บผลได้หลังดอกบาน 103-105 วัน

                         – พันธุ์กลาง เช่น พันธุ์ก้านยาว พันธุ์หมอนทอง พันธุ์กบ พันธุ์ชายมะไฟ เก็บผลได้หลักจากดอกบาน 127-130 วัน

                         – พันธุ์หนัก เช่น พันธุ์ทองย้อยฉัตร พันธุ์อีหนัก พันธุ์กำปั่น เก็บผลได้หลัง จากดอกบานแล้ว 140-150 วัน

               2. ปากปลิงของผลทุเรียนจะนูนเด่นขึ้นมาเห็นชัด

               3. ก้านผล ก้านผลทุเรียนจะแข็ง มีสีเข้ม จับแล้วสากมือ ปากปลิงบวมโตเห็นรอยต่อได้อย่างชัดเจน

               4. ผ่าดูสีเนื้อ เมล็ด และกลิ่น หากทุเรียนเริ่มแก่ และสามารถเก็บเกี่ยวได้จะต้องมีเนื้อสีเหลืองอ่อนอมขาว ตั้งแต่ส่วนนอกไปจนถึงส่วนที่ติดกับเมล็ด ส่วนสีของเมล็ดจะมีสีน้ำตาลบางส่วนเมื่อผลทุเรียนเริ่มแก่ และจะมีสีน้ำตาลทั้งเมล็ดเมื่อผลทุเรียนแก่เต็มที่ ทั้งนี้ อาจมีความแตกต่างกันที่พันธุ์ เช่น พันธุ์กระดุมทองผลดิบ จะมีเนื้อสีเหลือง ให้กลิ่นหอมเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาล พันธุ์ชะนีผลดิบจะมีเนื้อสีเหลือง กลิ่นหอมเล็กน้อย มันเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาลปนครีม ในขณะที่ทุเรียนพันธุ์หมอนทองผลดิบ จะมีเนื้อสีขาวปนเหลืองอ่อน กลิ่นหอมเล็กน้อย มันน้อย รสหวานน้อย เมล็ดสีครีมปนน้ำตาล

               5. การชิมน้ำที่ก้านผล เมื่อตัดทุเรียนแล้วจะมีน้ำใสบริเวณรอยตัด หรือตรงบริเวณปากปลิง ก่อนถึงขั้วผล โดยทุเรียนแก่น้ำจะมีรสหวาน

                         กระดุมทอง

                         – เนื้อผลห่ามมีสีเหลืองอ่อนอมขาว ให้รสหวานมัน กรอบ เนื้อสุกจัดมีสีเหลือง ให้รสหวานจัด มีกลิ่นหอมเล็กน้อย เมล็ดสีน้ำตาล

                         – สุกหลังการเก็บที่ 4-5 วันชะนี

                         – เนื้อมีสีเหลือง กลิ่นหอมเล็กน้อย เนื้อห่ามให้รสหวานมัน เนื้อสุกให้รสหวานจัด เนื้อละเอียด เมล็ดสีน้ำตาลปนครีม

                         – สุกหลังการเก็บที่ 4-5 วัน

                         หมอนทอง

                         – เนื้อมีสีขาวอมเหลืองอ่อน ให้รสหวานมัน กรอบ และหวานขึ้นเล็กน้อยเมื่อเนื้อสุก เนื้อมีกลิ่นหอมเล็กน้อย เนื้อไม่มีน้ำฉ่ำ และไม่เหนียวติดมือ เมล็ดสีครีมปนน้ำตาล

                         – สุกหลังการเก็บที่ 6-9 วัน

               วิธีตรวจทุเรียนสุกหรือไม่สุก

               1. ผลทุเรียนแก่ ปลายหนามมีสีน้ำตาลเข้ม หนามกางออก ร่องหนามห่าง และจะหักง่าย

               2. เมื่อบีบปลายหนามเข้าหากัน หากทุเรียนอ่อนมาก หนามจะแข็ง บีบงอได้ยาก แต่ถ้าทุเรียนแก่จะบีบหนามเข้าหากันได้

               3. ดูจากผิวทุเรียนแก่จากด้านบนจะเห็นหนามเป็นสีคล้ำแต่ผลมีสีนวลตัดกันเห็นชัด

               4. ทุเรียนแก่ โคนหนามจะออกเป็นสีน้ำตาล และช่องระหว่างพูจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองเล็กน้อย แต่หากทุเรียนอ่อน ช่องระหว่างพูจะมีสีเขียว

               5. ใช้ไม้เคาะ หากมีเสียงก้องโกรก แสดงว่าเมล็ดกับเปลือกแยกออกจากกันแล้ว ซึ่งแก่แล้ว แต่หากเสียงแน่นทึบแสดงว่ายังไม่แก่

               6. รอยแตกระหว่างพู ผลทุเรียนแก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้ชัดเจนยกเว้นบางพันธุ์ที่ปรากฏไม่เด่นชัด เช่น ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว

               7. ดมกลิ่น ทุเรียนสุกจะมีกลิ่นหอม