ไม้ผล เป็นกลุ่มพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากที่สุดในบรรดาพืชพรรณที่คนเราปลูกไว้เพื่อหวังผลผลิต ซึ่งหนึ่งในไม้ผลที่จัดว่าต้องการความใส่ใจมากก็คือ ทุเรียน ที่นอกจากจะได้รับฉายานามว่าเป็น “King Of Fruit” แล้ว ทุเรียนยังถูกจัดให้เป็น “ผลไม้ราคาแพงที่สุดในโลก” ด้วยราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้นทุกๆ ปีได้กลายเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้คนแห่ปลูกทุเรียนกันมากขึ้น แต่การจะทำทุเรียนให้ประสบความสำเร็จจริงๆ จะต้องมีสูตรลับและเทคนิคในการบริหารจัดการเฉพาะตัว แบบที่มีมือเซียนน้อยรายนักจะกล้ายอมเปิดเผยเคล็ดวิธีเหล่านั้น วันนี้ รักบ้านเกิด.คอม มีเคล็ดวิธีการจัดการทุเรียนคุณภาพ จาก “สวนทุเรียนพี่อุทัย ขันคำ” ต่อให้รู้สูตร รู้รายละเอียดที่ให้ไปแบบหมดไส้หมดพุงก็ยากจะทำให้สำเร็จได้ ด้วยเรื่องแบบนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญของชาวสวนแต่ละคนมากกว่า ว่าจะนำพาทุเรียนของตนให้รอดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครสามารถกำกับให้เป็นไปอย่างใจได้อย่างไร หากต้องเจอลมแรง อากาศร้อน ฝนชุก น้ำท่วม แล้งน้ำ โรค แมลง ราคา ฯลฯ ในแต่ละรอบฤดูกาลผลิต
สถานการณ์ของทุเรียน แล้วจะพบว่า แหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของโลกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่ที่สุด รองลงมาเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม นอกจากนี้ยังมีการนำทุเรียนไทยไปปลูกต่างถิ่น เช่น ประเทศออสเตรเลียด้วย สำหรับประเทศมาเลเซีย จัดเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะพันธุ์มูซังคิงของมาเลย์ที่กำลังตีตลาดจีน อันเป็นตลาดส่งออกสำคัญคู่กับหมอนทองไทย ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะปลูกทุเรียนกันทั่วทุกภาคของไทยแต่แหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญ ก็ยังคงเป็นภาคตะวันออกและภาคใต้ ครึ่งหนึ่งของผลผลิตมาจากภาคตะวันออก โดยเฉพาะจันทบุรี ปัจจุบันมีการกระจายพื้นที่ปลูกไปทั่วประเทศ เพราะมีแรงจูงใจเรื่องราคาที่สูงขึ้นทุกปี และตลาดมีความต้องการบริโภคทุเรียนต่อเนื่อง ด้านต้นทุนการผลิตทุเรียน ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้รายงานไว้ พบว่า ต้นทุนการผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และ ชะนี นั้นตกประมาณไร่ละ 17,800 – 21,500 บาทขึ้นอยู่กับพันธุ์ โดยคิดเป็นต้นทุนผันแปร หรือ ต้นทุนที่ใช้การจัดการปัจจัยการผลิตประมาณ 75% ของต้นทุนการผลิตทั้่งหมด ซึ่งในจำนวนนี้แยกได้เป็นต้นทุนในเรื่องแรงงาน 29% ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอก 15% สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และ วัชพืช 37% นอกจากนี้ทุเรียนยังจัดเป็นพืช Product champion ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องรับผิดชอบดูแลการผลิตอย่างครบวงจร เพื่อผลักดันการส่งออกอีกด้วย
ส่วนพันธุ์ที่นิยมปลูกเชิงการค้า หรือ นิยมปลูกกันแพร่หลาย ได้แก่ พันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว พันธุ์กระดุมทอง พันธุ์พวงมณี พันธุ์หลงหลินลับแล และ พันธุ์หมอนทอง ซึ่งพันธุ์หมอนทองนิยมปลูกเชิงการค้ามากที่สุด
พันธุ์หมอนทอง : เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มโปร่งรูปฉัตร ใบยาวเรียว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ดอกสีขาวอมเหลืองเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ(มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน) ออกดอกเป็นช่อ ใน 1 ช่อจะมีดอกประมาณ 3 – 30 ดอก ผลมีขนาดใหญ่ (2 – 4.5 กิโลกรัม) ทรงผลยาว ก้นผลแหลม ไหล่ผลกว้าง เห็นพูได้ชัดเจน เปลือกบาง เนื้อหนา สีเหลืองอ่อน รสสัมผัสหยาบ รสหวานจัด กลิ่นน้อย เมล็ดลีบ เป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ทนทานต่อโรครากเน่า-โคนเน่า
พันธุ์ชะนี : มีทรงพุ่มรูปฉัตรเหมือนหมอนทองแต่ทึบกว่า กิ่งออกถี่ แตกออกเป็นระเบียบ ทรงพุ่มไม่กว้าง ใบเล็กทรงยาว รูปไข่ ปลายใบสอบแหลม ฐานใบมนออกแหลม หรือ มน ผลเป็นรูปทรงกระบอกหรือไข่ ปลายแหลม กลางผลป่อง ขนาดปานกลาง พูเห็นชัด ร่องพูไม่ลึก เนื้อละเอียด เหนียวหนึบ สีเหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน เนื้อน้อย เมล็ดใหญ่ และ มีกลิ่นแรง มีข้อดีตรงที่ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่าได้
พันธุ์ก้านยาว : ทรงพุ่มรูปกรวย กิ่งก้านยาว มีนิสัยชอบทิ้งกิ่ง ใบใหญ่ ปลายใบกว้างสอบลงโคน ปลายใบสอบแหลม ฐานใบเรียวสอบออกแหลม ทรงผมกลมหรือเป็นทรงลิ้นจี่ ไม่มีไหล่ผล ด้านขั้วจะกว้างและเรียวลงไปทางก้นผล ขนาดผลไม่ใหญ่ จุดสังเกตที่เด่นชัดคือก้านผลยาวเห็นชัด เนื้อสีเหลือง บาง ละเอียด เหนียว เมล็ดโต มีเมล็ดมาก รสหวานมัน กลิ่นน้อย เนื้อไม่ค่อยแฉะเละ แม้ว่าจะสุกมากก็ตาม และไม่ทนทานโรครากเน่า-โคนเน่า
พันธุ์กระดุมทอง : ทรงพุ่มโปร่งรูปกรวย ใบใหญ่ป้อมกลางใบ ปลายใบเรียวแหลมยาว ฐานใบกลมกว้างและสั้น ผลกลมเล็ก ร่องพูลึกคล้ายผลฟักทอง เปลือกค่อนข้างบาง หนามเล็กและถี่ เนื้อบางสีเหลืองเข้ม รสหวานจัด ไม่ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า
การเตรียมดิน : ในการปรับพื้นที่ปลูกที่เป็นสวนยางและผลไม้อื่นเดิม จะใช้รถแม็คโค 2 คันในการรื้อถอนต้นไม้เก่าออก เพื่อเตรียมแปลงปลูกทุเรียน โดยคันแรกจะขุดตอยางและต้นไม้อื่นออกให้หมด แล้วให้แม็คโคอีกคันตามจกดินหลังคันที่ขุดตอ ก็จะเป็นการปรับพลิกหน้าดินได้ในครั้งเดียว แล้วใช้ผาน 7 ไถดะและไถแปร 4 รอบ วิธีนี้จะทำให้ได้หน้าดินถึง 50 เซนติเมตร จากนั้นเตรียมขึ้นแปลงปลูก ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งแบบวางแนวราบ เหมาะสำหรับพื้นที่ลาดเอียง ระบายน้ำดี,พูนโคนแบบกระทะคว่ำ วิธีนี้รากอาจถูกจำกัดหากินได้ไม่ไกลจำต้องขยายโคนให้ปีละ 1 – 2 ครั้ง เมื่อเริ่มให้ผลผลิตจึงหยุดขยายโคน เป็นวิธีที่ช่วยเรื่องการระบายน้ำได้ดี ปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุม ใช้วางต้นแล้วขุดดินขึ้นมากลบ ปรับแต่งโคกให้ลาดเอียงทรงกระทะคว่ำ และพนมร่องหรือการยกร่องปลูกแบบมันสำปะหลัง ซึ่งทางสวนจะใช้วิธีการปลูกแบบพนมร่องมากกว่าแบบอื่น เพราะสะดวกต่อการนำรถนั่งตัดหญ้าเข้าไปจัดการ หากเป็นการปลูกแบบยกโคก จะต้องใช้เครื่องตัดหญ้าแบบร่อนเหวี่ยงที่โคนต้นด้วย เพราะรถเข้าไม่ถึงจึงเป็นการเสียเวลา การพูนโคนจะมีข้อเสียคือ โคกจะเล็กกว่าต้นทุเรียนในทุกๆ ปี ทำให้รากทุเรียนถูกจำกัดอยู่แค่เพียงในวงโคก หรือแผ่ขยายหากินได้ไม่เต็มที่ จึงขัดต่อธรรมชาติของทุเรียนที่จะแผ่รากหากินบนผิวดินมากกว่าลงลึกไปด้านล่าง การยกโคกจึงทำให้รากต้องพุ่งลงหากินด้านล่างแทน ต้นทุเรียนจึงเติบโตไม่ดี
หมายเหตุ :
– การเตรียมแปลงปลูกที่ดี ควรมุ่งเน้นเรื่องการทำทางระบายน้ำในแปลงปลูกให้ดีด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องโรครากเน่า โคนเน่า
– ดินลูกรังจะควบคุมการออกดอกได้ดีกว่าดินร่วนปนทราย แต่จะเปลืองน้ำช่วงทำลูก – เป็นลูก เพราะดินแห้งเร็ว ผลผลิตที่ได้จากดินลูกรัง จะไม่เด่นเท่าดินร่วนปนทรายหรือดินปึก เนื้อทุเรียนที่ได้จะสวกไม่หนึบ ละเอียดเหมือนดินร่วนปนทรายหรือดินปึก แต่ถ้าไว้ครบกำหนด รสชาติจะดีเช่นกัน
การเตรียมต้นพันธุ์และการปลูก : ในการปลูกจะใช้ต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่เสียบยอดบนต้นตอชะนี เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรครากเน่า-โคนเน่า โดยต้นพันธุ์ที่ใช้มีอายุ 3 – 4 เดือน ปลูกลงในหลุมที่ขุดหลุมให้มีความกว้าง x ลึก เพียงครึ่งตุ้มของต้นกล้าทุเรียน โดยไม่ต้องปรับสภาพดิน เนื่องจากพื้นที่นั้นมีสภาพดินดีอยู่แล้ว ใช้เพียงปุ๋ยสูตรเสมอรองก้นหลุมกลบด้วยดินบางๆ ก่อนนำกล้าทุเรียนลงปลูก ในอัตรา 2 – 3 ขีดต่อหลุม โดยใช้ระยะห่างระหว่างต้น x ระหว่างแถว คือ 7 x 8 ,9 x 9 จะได้จำนวนต้นประมาณ 22 – 24 ต้นต่อไร่ หากใช้ระยะปลูกที่ 10 x 10 เมตร จะได้ ประมาณ 18 – 20 ต้นต่อไร่ การเลือกใช้ระยะปลูกขึ้นอยู่กับสภาพแปลงปลูก ต้องมีการพรางแสงด้วยแสลนหรือทางมะพร้าวหรือปลูกแซมสวนกล้วย เพื่อใช้ร่มเงาจากกล้วยบังแสงให้ทุเรียนปลูกใหม่ในการพยุงต้นเพื่อการเติบโต แต่ถ้าปลูกในหน้าฝนต้นกล้าทุเรียนจะตั้งตัวได้เร็ว และไม่ต้องทำการพรางแสง เพราะจะไม่โดนแสงแดดมาก แล้วพูนโคนกลบต้นตามแนวที่วางไว้ การยกโคกต้องกว้างและไม่สูง ซึ่งจะไม่ทำทุกปี จะทำแค่ช่วงแรกตอนวางแนวปลูกเท่านั้น ทั้งนี้ ก่อนปลูกจะต้องวางแนวปลูก เตรียมแปลง และระบบน้ำให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะนำต้นพันธุ์ทุเรียนลงปลูกได้
น้ำ : เรื่องแหล่งน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเพาะปลูกทุเรียน เพราะทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการใช้น้ำเยอะ จึงขาดน้ำไม่ได้ การจัดการเรื่องแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของทุเรียนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะช่วงติดผล หากขาดน้ำจะทำให้ผลเสียหายหรือหลุดร่วง ดังนั้น หากมีพื้นที่ปลูก 20 ไร่ต้องจัดให้มีแหล่งน้ำขั้นต่ำ 3 ไร่ขึ้นไปจึงจะพอ การวางระบบน้ำในสวนควรใช้ระบบมินิสปริงเกอร์ ที่จะสามารถกระจายน้ำได้ทั่วถึงและดีกว่า ติดตั้งห่างจากโคนต้น 1 เมตร ใช้ 1 – 2 หัวต่อต้น ด้วยแรงดันจากปั๊ม 2 ตัว ซึ่ง การให้น้ำเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำหรับทุเรียน เพราะส่งผลต่อการออกดอก หรือ บังคับดอกนอกฤดู
การให้น้ำ :
– สภาพอากาศปกติ ให้ทุกๆ 2 วัน นาน 30 นาที
– สภาพอากาศร้อน/แห้งแล้ง
ให้วันเว้นวัน นาน 30 นาที
การให้น้ำทุเรียนในระยะต่าง เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะส่งผลต่อการออกดอกและคุณภาพผลผลิต
การให้ปุ๋ย : การให้ปุ๋ย ใช้สูตรเสมอ เช่น 15-15-15,16-16-16 และ 17-17-17 ยืนพื้นเพื่อการบำรุงต้น ใบ ดอก ผล ตามปกติ จะเริ่มให้ปุ๋ยก่อนตัดแต่งกิ่งประมาณ 1 สัปดาห์ และ หลังการตัดแต่งกิ่งทุกๆ 15วัน
– อายุต้นหลังปลูก – 1 ปี ให้ปุ๋ยเคมีอัตรา 200 – 300 กรัมต่อต้น ทุก 20 วัน ผสมกับปุ๋ยคอก(มูลโค) อัตรา 10 กิโลกรัม รอบทรงพุ่ม
– ปีที่ 2 – 3 ให้ปุ๋ยเคมีอัตรา 400 – 500 กรัม ต่อต้น ทุก 15 วัน ผสมกับปุ๋ยคอก(มูลโค) อัตรา 10 กิโลกรัม รอบทรงพุ่ม
– ปีที่ 4 – 9 ทุเรียนจะเริ่มให้ผลผลิต ให้ปุ๋ยเคมี 1 กิโลกรัมต่อต้น ทุก 15 วัน ผสมกับปุ๋ยคอก(มูลโค) อัตรา 20 กิโลกรัม รอบทรงพุ่ม
– ปีที่ 10 เป็นต้น ให้ปุ๋ยเคมีในอัตรา 1 – 1.5 กิโลกรัมต่อต้น ทุก 15 วัน ผสมกับปุ๋ยคอก(มูลโค) อัตรา 20 กิโลกรัม รอบทรงพุ่ม
คำแนะนำเรื่องการใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม :
– ก่อนทุเรียนออกดอกประมาณ 45 – 60 วัน จะหยุดการให้ปุ๋ยคอก เพราะปุ๋ยคอกจะทำให้ต้นทุเรียนเฝือใบ
– เมื่อทุเรียนจะเข้าดอกให้ปรับสูตรปุ๋ยจากสูตรเสมมอมาเป็นปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 ในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น ทุก 15 วัน
– หลังตัดแต่งผลตั้งแต่ระยะไข่ไก่มาจะปรับสูตรปุ๋ยเป็นสูตร 12-12-17 ทุก 10 วัน ให้ในอัตรา 700 – 800 กรัม ต่อต้น ไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยว
– เทคนิคการจัดการปุ๋ย เพื่อให้ได้ผลผลิตทุเรียนคุณภาพดี คือ ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่าย 1 เดือน จะหยุดให้ปุ๋ย เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมปุ๋ยในผลมาก เพราะถ้าหากมีการสะสมปุ๋ยในผลมากจะทำให้เนื้อทุเรียนที่ได้ไม่อร่อย
การจัดแต่งทรงพุ่มทุเรียน : ด้วยความที่ทุเรียนเป็นไม้ผลที่มีความสูงได้ 25 – 50 เมตร(แล้วแต่พันธุ์) หากปล่อยให้ต้นเติบโตตามธรรมชาติจะยากต่อการจัดการดูแล เช่น การพ่นปุ๋ย ฮอร์โมน สารกำจัดโรคแมลง และ การจัดการผล ดังนั้น การจัดการทรงพุ่ม จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการทำสวนทุเรียน เพื่อควบคุมทรงพุ่มให้ไม่กว้างหรือสูงเกินไป ที่สวนจะเลี้ยงไว้ที่ความสูง 5 – 7 เมตรเพื่อให้ง่ายต่อการปีนป่ายขึ้นไปดูแลผล การตัดแต่งกิ่งจะเริ่มเมื่อต้นมีอายุได้ 1 – 1.5 ปี เน้นการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เลี้ยงแบบต้นเดี่ยว ควบคุมทรงพุ่มให้เตี้ยด้วยการตัดยอด ในครั้งแรกที่ตัดแต่งต้องกำหนด กิ่งหลักไว้ 7 – 10 กิ่ง แบบสลับฟันปลา ห่างกัน 10 – 15 เซนติเมตร เลือกไว้ตามตำแหน่งที่เหมาะสมและตามความสมบูรณ์ของกิ่งที่ต้องการจะเลี้ยงไว้เป็นกิ่งหลัก แล้วลิดกิ่งกระโดง(กิ่งที่เกิดในทรงพุ่ม) ,กิ่งมุมแคบ , กิ่งซ้อน หรือ กิ่งมุมกว้างเกินไปออก ด้วยกรรไกรตัดแต่งกิ่งอันใหญ่ จากนั้นตัดแต่งปลายกิ่งรอบทรงพุ่มคลุมทรงเป็นแบบฝาชีคว่ำ เมื่อทุเรียนเริ่มให้ผลผลิต ต้องมีกิ่งหลักเป็น 12 – 20 กิ่ง โดยกิ่งหลักกิ่งแรกจะต้องอยู่สูงจากพื้นดิน 1 เมตร จากนั้นจะทำการตัดแต่งกิ่งคลุมทรงพุ่มปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ทุกๆ ครั้งหลังตัดแต่งกิ่งเสร็จจะล้างต้นด้วยการฉีดพ่น Metalaxyl ในอัตรา 2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร(ฉีดพ่นได้ 100 – 120 ต้น) ให้ทั่วทรงพุ่มเพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลายพืชทางบาดแผล
การตัดแต่งดอกและไว้ผล : ในช่วงฤดูออกดอกปกติ ทุเรียนจะมีดอกออกมาเรื่อยๆ ดอกทุเรียนออกเป็นช่อมีตั้งแต่ 3 – 30 ดอกต่อช่อ และออกเป็นรุ่นๆ ตลอดความยาวใต้ท้องกิ่ง จึงต้องหมั่นสอยออก บางต้นให้ดอกได้ถึงสามรุ่น บางต้นผลเท่าไข่ไก่แล้วยังมีดอกออกตามมา การทำทุเรียนจำต้องเลือกไว้ดอกต่อต้นแค่รุ่นเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการผลผลิต เพราะถ้าไว้หลายรุ่นแล้วจะให้อาหารยาก ไปจนถึงทำให้ต้นโทรม การเลือกไว้ช่อดอก ไม่ว่าจะเป็นการทำดอกก่อนฤดู ในฤดู และ หลังฤดู จะเลือกไว้เพียง 5 – 7 ช่อดอกต่อกิ่ง การตัดแต่งครั้งแรกจะเริ่มในระยะมะเขือพวงเล็ก
– การตัดแต่งครั้งที่ 1 จะเป็นการตัดแต่งช่อดอกในระยะมะเขือพวงเล็กที่อยู่ติดกับโคนต้นออก จะเริ่มไว้ช่อดอกแรกให้ห่างจากต้น 50 เซนติเมตร และ เลือกไว้เพียง 5 – 7 ช่อดอกต่อกิ่ง แต่ละช่อห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร
– การตัดแต่งครั้งที่ 2 จะตัดแต่งในระยะผลเท่าไข่ไก่ ซึ่งในระยะนี้ 1 พวงดอกจะติดผลได้ประมาณ 10 – 20 ผล การตัดแต่งครั้งนี้จะคัดเลือกผลที่ไม่สวย หรือ บิดเบี้ยวออก รอบนี้จะเอาผลที่ติดอยู่ในช่อออกให้เหลือไว้ประมาณ 3 – 4 ผล ต่อช่อ แล้วปล่อยเลี้ยงไว้สักระยะหนึ่ง การไว้ผลในรอบนี้ต้องไว้ให้มากกว่าจำนวนที่คาดว่าจะได้เก็บเกี่ยว 20%
– การตัดแต่งครั้งที่ 3 จะตัดแต่งในช่วง 20 วันหลังจากระยะผลเท่าไข่ไก่ – กระป๋องนม ช่วงนี้ทุเรียนจะแตกใบอ่อนออกมา ต้องคอยหมั่นสังเกตุ เพราะทุเรียนจะรักใบมากกว่าผล หากมีใบต้นจะสลัดผลทิ้ง ระยะนี้จึงตัดแต่งขาดไม่ได้ การแต่งผลช่วงนี้ต้องดูใบทุเรียนด้วย เพราะทุเรียนจะเลือกผลที่แข็งแรงไว้ ถ้าผลไหนสู้ไม่ไหวจะร่วงลงไป การตัดแต่งในระยะนี้ จำต้องทำหลังผ่านการแตกใบอ่อนไปแล้ว ซึ่งระยะนี้จะใช้ เทคนิคการส่งใบเพื่อประครองผล/ลดการหลุดร่วงของผล ด้วยการให้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 300 กรัมผสมปุ๋ยสูตรเสมอ(15-15-15) อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ทางดินภายในบริเวณทรงพุ่ม ห่างจากต้น 50 เซนติเมตร และเร่งใบให้แก่เร็วขึ้นเพื่อให้ผ่านช่วงเวลาที่ต้นจะสลัดผลทิ้งไปโดยเร็ว ด้วยการให้ปุ๋ย แมกนีเซียม ทางใบในอัตรา 1. 5 – 2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร เมื่อใบที่แตกมาเป็นใบแก่ จึงจะทำการตัดแต่งผลในรอบนี้ให้เหลือเพียง 3 – 4 ผล ต่อช่อ
– การตัดแต่งครั้งที่ 4 จะตัดแต่งในระยะกระป๋องนม ให้เหลือเพียงช่อละ 1 – 2 ผล ใน 1 กิ่งจะไว้เพียง 3 – 5 ผล 1 ต้นไว้ผลได้ประมาณ 60 ลูก เทคนิคการผลิตทุเรียนให้มีผลใหญ่ สวย คุณภาพดี อยู่ที่การเลือกไว้ผลในช่วงนี้ด้วย หากต้องการผลคุณภาพดี จะต้องเลือกไว้ผลที่ตำแหน่งตรงกลางไปจนถึงปลายกิ่ง เพราะผลที่อยู่ติดต้นมักจะลูกไม่สวย ซึ่งมีผลจากการส่งระยะทางในการส่งอาหารจากใบมาที่ผตำแหน่งนี้ไกลเกินไป และต้องเลือกกิ่งที่จะไว้ลูกตั้งแต่ช่วงกลางต้นขึ้นไป หรือ ถ้าแบ่งลำต้นออกเป็น 5 ส่วน ก็คือ เลือกไว้ลูกช่วงที่ 2 – 3 ของลำต้น จะทำให้ได้ลูกโตสวย และดีกว่าไว้ติดโคน หรือ ยอด การไว้ผลในช่วงนี้จะสัมพันกับความเสี่ยงต่อการเกิดหนอนรัง (หนอนเจาะผลละหุ่ง/Conogethes punctiferalis) หากไว้ผลมากหรือมีผลติดกันจะทำให้เกิดการระบาดของหนอนรัง เพลี้ยแป้งและราดำได้ง่าย การเลือกไว้ผลเพียง 1 ผล จึงเป็นการลดความเสี่ยงได้ดี ซึ่งมีวิธีป้องกันหนอนรังเข้าทำลายผลที่อยู่ที่ติดกันเป็นพวงได้ด้วยการใช้ไม้ขัดผลให้ห่างกัน
น้ำหนักผล หรือ แม้แต่การขึ้นไปปฏิบัติงานในช่วงที่ต้องตัดแต่งดอกผล โรค แมลง และ เก็บเกี่ยว ซึ่งการค้ำต้นจะทำได้ 2 แบบ คือ
1. การปักหมุด ดึงสลิง เป็นวิธีที่คงทนถาวร ลงทุนครั้งเดียวสามารถอยู่ได้นานหลายปี มีวิธีการคือปักหลักหมุดหล่อฐานปูนให้มีความลึกลงไปในดิน 60 เซนติเมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร สี่มุม แล้วใช้สลิงร้อยในสายยาง(ป้องกันการเกิดริ้วรอยกดทับของลวดสลิง) ดึงยอดลงมาผูกกับหลักทั้งสี่ ส่วนกิ่งก้านด้านในจะใช้เชือกไนล่อนดึงรั้งเข้ามาหาต้น
2. ใช้ไม้ไผ่ปักหลักค้ำยัน เป็นการนำไม้ไผ่มาพาดปลายด้านหนึ่งเข้าหากิ่งที่ต้องการจะค้ำมัดด้วยเชือกฟางให้แน่น แล้วปักปลายอีกด้านลงดินเพียงเล็กน้อย ใน 1 กิ่ง จะใช้ไม้ไผ่ 2 – 3 ลำขนาดความยาวตามความสูงของต้น จำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของกิ่งและต้น ใน 1 ต้น จะใช้ประมาณ 7 – 10 ลำ
การโยงผลทุเรียน (เต๊าลูก) : การโยงผลเป็นการป้องกันการหลุดร่วงของผล เมื่อเจอกับสภาพลมแรง การโยงจะใช้เชือกฟาง จำนวน 2 เส้น ต่อผล ช้อนโยงลูกไขว้กันตรงก้นผลไปผูกกับกิ่งเป็นสี่มุม แล้วมัดรวบด้านบนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งชาวสวนทุเรียนจะเรียกการโยงผลนี้ว่า “การเต๊าลูก” จะทำช่วงที่ทุเรียนมีอายุได้ 75 – 90 วันหลังดอกบาน และปล่อยไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยว ซึ่งการเก็บเกี่ยวจะตัดทั้งลูกและเชือกเต๊าออกมาพร้อมกัน
การจัดการโรค – แมลงศัตรูพืช : ศัตรูสำคัญของทุเรียนที่พบในสวน จะมี เพลี้ยไฟ ที่เข้ามาทำลายดอกช่วงหลังดอกบานไปจนถึงหางแย้ ทำให้ผลทุเรียนที่โดนเพลี้ยไฟทำลายมีหนามติดกัน ขายไม่ได้ราคา การป้องกันกำจัดจะใช้อิมิดาคลอพริด ฉีดพ่นทุก 7 วัน ช่วงเป็นหางแย้ ไปจนกว่าลูกจะอยู่ในระยะกระป๋องนม จึงจะปลอดภัยจากเพลี้ยไฟ ในระยะเดียวกันนี้ก็อาจพบว่ามี เพลี้ยแป้ง เข้าทำลายบ้างช่วงออกดอก – ผลอ่อน แต่จะพบน้อยกว่าไรแดงและเพลี้ยไฟ กรณีที่มีการให้น้ำตาลทางด่วนมาก ก็จะพบเพลี้ยแป้งเข้าทำลายมาก การป้องกันกำจัดจะใช้ เมโทมิล ผสม คลอไพริฟอด ฉีดพ่นทุก 7 วัน ถัดจากนี้ไปจะพบว่ามี หนอนรังหรือหนอนเจาะผล(Conogethes punctiferalis)เข้ามาทำลายผลในระยะนี้ การไว้ลูกให้ห่างกันจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของหนอนชนิดนี้ได้ เพราะถ้าผลทุเรียนติดกันหนอนจะเข้ามาทำรังได้ง่าย การป้องกันหนอนไม่ให้เข้าเจาะผลทุเรียนที่ติดกัน ทำได้โดยเอาไม้เข้าไปสอดคั่นกลางระหว่างลูกไว้ เพื่อไม่ให้ลูกติดกัน ก็เป็นวิธีป้องกันหนอนอย่างหนึ่ง เมื่อต้นทุเรียนเริ่มมีใบแก่ ศัตรูตัวสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังก็คือ ไรแดง มักพบแพร่ระบาดในสภาพอากาศของฤดูหนาว การป้องกันกำจัดจะใช้ อิมิดาคลอพริด + ไพริดาเบน หรือ โพรพาร์ไกต์ + ออย เพื่อคุมไข่ ฉีดพ่นคลุมทุก 7 วัน ฉีด หากฉีดพ่นไป 2 ครั้งแล้วยังไม่สามารถควบคุมได้ ต้องเปลี่ยนสารเคมี แมลงศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญก็คือ หนอนด้วงหนวดยาว มักพบเข้าทำลายลำต้นเหนือพื้นดินขึ้นไป 1 – 1.5 เมตรหากพบว่ามีการเข้าทำลายต้นทุเรียน จะใช้มีดฟันรอยเจาะให้เป็นแผล เพื่อหาตัวหนอน หากเจอตัวหนอน จะใช้ Metalaxyl ผสมน้ำทาตามรอยแผลทันที หรือ ใช้อะบาแมคตินผสมน้ำในอัตราปกติ ใส่สลิ้งฉีดฝังเข็มเข้าต้นจะทำให้หนอนด้วงตายยกรัง
เทคนิคการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิตภายใน 4 ปี : ในการปลูกทุเรียนให้ได้ผลเร็วนั้นต้องดูแลเอาใมจใส่อย่างใกล้ชิด บำรุงปุ๋ยให้ถึงตามอัตราและระเวลาดังกล่าวมาข้างต้น ร่วมกับการหมั่นตัดแต่งหญ้าในสวนให้โล่งเตียน ตัดแต่งกิ่ง คุมยอดไม่ให้สูงเกินน 5 – 7 เมตร จัดการทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้พืชได้สังเคราะห์แสงเต็มที่ เน้นที่การตัดแต่งยอดควบคุมความสูง เพราะถ้าปล่อยให้ต้นสูงไปเรื่อย ๆ จะได้ลำต้นเล็ก จากการที่พืชส่งอาหารไปเลี้ยงยอดหมด แต่ที่ทำที่หยุดการเติบโตทางยอด โดยในช่วงปีที่ 1 – 3 จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของการจัดการทรงพุ่ม เมื่อต้นอายุได้ 1 ปี จะไว้ต้นที่ความสูงเพียง 1 เมตร จากพื้นดิน กิ่งก้านของต้นช่วงนี้ยังไม่ใหญ่ แต่จะมีกิ่งน้ำค้าง กิ่งกระโดง อยู่มาก ให้ริดออกให้หมด เพื่อที่อาหารจะได้ถูกส่งไปเลี้ยงกิ่งหลักและต้นได้เต็มที่ ต้นอายุที่ 2 ปี จะเริ่มแต่งกิ่งล่างสุดออก จะไว้กิ่งหลักแรก ให้มีความสูงจากพื้นดินไม่ต่ำกว่า 1 เมตร หรือ แล้วแต่ความสูงที่ต้องการ แล้วตัดแต่งกิ่งไม่สำคัญออกอีกรอบ ปีที่ 3 จะตัดยอดออกอีกครั้ง ที่ความสูงของต้นจากพื้นดิน 4 เมตร ซึ่งตอนนี้ต้นทุเรียนจะสูงจากพื้นดิน ประมาณ 5 – 5.5 เมตร เมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 ก็จะเริ่มติดผล ทุกครั้งก่อนและหลังตัดแต่งทรงพุ่ม จะต้องให้ปุ๋ยทุกครั้ง การให้ปุ๋ยทุเรียนต้นเล็ก เน้นให้ที่บริเวณรอบทรงพุ่ม เพื่อล่อรากให้ออกไปกินอาหาร จึงทำให้รากโตดี การจัดแต่งทรงพุ่มทุกครั้งจะทำให้ได้ขนาดต้นที่ใหญ่ขึ้นแต่ทรงพุ่มเท่าเดิม และต้องคอยคุมรัศมีของทรงพุ่มไม่ให้ชนกัน เพื่อให้ดูเป็นระเบียบและง่ายต่อการใช้เครื่องจักรเข้าไปจัดการ
การสุกแก่ : การดูความพร้อมว่าทุเรียนที่ปลูกไว้สุกแก่เมื่อไหร่นั้น จะใช้การจดบันทึกวันที่ดอกทุเรียนบานเป็นรุ่นๆ แล้วนับวันไปตามอายุของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ สำหรับทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะสุกแก่ที่ 120 วัน หลังดอกบาน ความสุกแก่ตรงนี้จะอยู่ที่ 90% ขึ้นไป ถ้าปล่อยไว้เกิน 120 – 125 วัน จะเริ่มสุกงอมพร้อมร่วง หรือ ถ้าจะเก็บให้อ่อนกว่านั้นก็นับร่นวันลงมา อย่างถ้ามีล้งจีนมาตัดก็จะตัดผลกันที่อายุ 105 – 110 วัน ซึ่งทุเรียนที่นำมาทอดแปรรูปก็จะใช้ความสุกแก่ประมาณนี้เช่นกัน ส่วนทุเรียนพันธุ์ชะนีจะสุกแก่ที่ 100 – 110 เรื่องการสุกแก่ของทุเรียนนั้นค่อนข้างนิ่งตายตัวจึงไม่ยากต่อการจัดการ แค่รู้วันดอกบานก็จะรู้วันเก็บเกี่ยวเตรียมทำตลาดได้เลย สำหรับการสังเกตุลักษณะภายนอกของทุเรียนแก่ ก็ให้ดูที่ปลายหนาม เพราะปลายหนามจะเริ่มแห้ง – เหี่ยวเป็นสีน้ำตาล ขั้วตรงผลแข็งและสากปลิงอวบ ปูด ขึ้นมาให้เห็นชัด การตัดขายของทางสวนจะอยู่ที่ความสุกแก่ 90 % หากขายออนไลน์ จะอยู่ที่ 95 % เมื่อไปถึงมือลูกค้าก็จะสุกพอดี
การเก็บเกี่ยว : การเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเก็บทีเดียวทั้งแปลง
โดยแบ่งเป็น 2 มีด มีดแรก เน้นเก็บลูกหัวๆ
ที่มีลูกสวยและสุกแก่เต็มที่ก่อน ผ่านไป 7 วัน จึงลงมีดสอง ในรอบนี้จะรูดเก็บหมดทั้งต้น
ซึ่งราคาจำหน่ายในมีดแรกกับมีดสองจะเท่ากัน ตามสัญญาที่เราทำกับคู่ค้า
(กรณีตัดล้ง) การเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีตัดแล้วโยนลงมาให้คนรับ
ช่วงนี้จึงต้องใช้แรงงานเยอะเพราะต้องรีบตัดให้ทันกำหนดเวลา
การบ่มทุเรียน : ทางสวนเคยเจอปัญหาว่าลูกค้าซื้อทุเรียนไปแล้ว
บอกว่าทุเรียนอ่อนไม่พร้อมทาน เพราะใจร้อนรีบแกะ
จึงอยากแนะนำว่าหากเป็นทุเรียนที่ซื้อหาทั่วไปตามท้องตลาดนั้นจะสุกแก่พร้อมทานเพราะมีการป้ายตัวยา
ชื่อ อิทิฟอน ที่ขั้วผลเพื่อเร่งให้สุก
แต่ถ้าซื้อจากสวนไปโดยตรงจะเป็นการสุกแก่ตามธรรมชาติไม่มีการใช้น้ำยาเร่ง
จำต้องปล่อยให้ทุเรียนสุกแก่ด้วยการบ่มตามธรมชาติ นั่นคือ
ใช้ผ้าคลุมทุเรียนไว้ในสภาพอุณภูมิห้องปกติ แล้วรอ 5 – 7 วันทุเรียนจึงจะสุกพร้อมทานแบบกรอบนอกนุ่มใน
หากอยู่ในสภาพอากาศเย็นเช่นในห้องแอร์จะสุกช้าออกไป
แต่ถ้าอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนเพียง 3 วันก็สุกแล้ว
เทคนิคการฟื้นต้นทุเรียนหลังเก็บเกี่ยว
: หลังเก็บผลจากออกจากต้นหมดทุกครั้ง
จะให้น้ำต้นเต็มที่ในทันที โดยจะให้น้ำนาน 30 นาทีตามสภาพอากาศแบบวันเว้นวันหรือวันเว้นสองวัน เพื่อให้ต้นฟื้นตัว
ทุกครั้งเพื่อเป็นการฟื้นต้นและป้องกันต้นโทรม หลังการให้น้ำครั้งแรก จะพักต้น 10 วัน แล้วบำรุงต้นอายุ 7 ปี ขึ้นไป ด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ
ในอัตรา 1.5 – 2 กิโลกรัม ผสม ยูเรีย 300 กรัม ต่อต้น หากต้นอายุต่ำกว่า 7 ปี จะให้ปุ๋ยในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น
โรยรอบทรงพุ่มหลังตัดลูก หลังใส่ปุ๋ย 15 – 20 วัน จะตัดแต่งกิ่งควบคุมทรงพุ่ม
แล้วให้ปุ๋ยในอัตราเดิมเหมือนตอนก่อนตัดแต่งอีกครั้งหนึ่ง ดูแลไปจนเริ่มมีใบแรก
ใบเริ่มเพสลาด จึงเริ่มดูแลเรื่องการฝังเข็มป้องกันโรครากเน่า – โคนเน่า
แล้วรดน้ำใส่ปุ๋ยตามอัตราข้างต้นที่กล่าวมา ไปเรื่อยๆ จนได้ใบ 2 ซึ่งจะใช้เวลา ประมาณ 45 – 50 วัน
แล้วจะเข้าสู่รอบของการทำนอกฤดู(หลังเก็บผลแล้ว 90 -100 วันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ)
ทำสาวต้นทุเรียนด้วยวิธีการบอนราก
: เมื่อปลูกทุเรียนไปนานๆ หรือ
ในต้นทุเรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ต้นจะเริ่มโทรม
จึงนำมาสู่การทำสาวให้ต้นฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้วิธีการตัดยอดทิ้งให้เหลือต้นสูงเพียงแค่ 4- 5 เมตร จากพื้นดิน
แล้วเล็มแต่งกิ่งรอบทรงพุ่ม แต่ที่สวนทุเรียนลุงแกละ จะใช้วิธีการบอนรากที่ได้จากประสบการณ์ส่วนตัวควบคู่ไปด้วย
โดยการบอนรากนี้จะใช้รถแม็คโคขุดตัดรากแขนงรอบโคนต้น
แล้วกลับหน้าดินเพื่อฟื้นต้นทุเรียนใหม่ จากนั้นจะใส่ปูนขาว ปรับสภาพดิน
รอบทรงพุ่มต้นละ 2 กิโลกรัม รดน้ำตาม
แล้วฉีดพ่นฮิวมิก 5 ลิตร ต่อ น้ำ 1,000 ลิตร และ เมทาแลคซิล 3 กิโลกรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร
(ตามอัตรานี้จะฉีดพ่นต้นทุเรียนได้ประมาณ 40 ต้น)
จะทำให้ทุเรียนมีการเติบโตทางใบที่ดีกว่าการทำสาวด้วยวิธีการตัดยอดเพียงอย่างเดียว