ประวัติความเป็นมา

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2504 กระทรวงเกษตรได้เสนอโครงการจัดตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ไปยังคณะรัฐมนตรีแยกเป็น 2 แผน แผนที่หนึ่ง ขอจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นแผนขั้นเตรียมการก่อนจัดตั้งกรม คือเตรียมทั้งการวางแผนงาน วางอัตรากำลังคน ปรับปรุงวิชาการ เปลี่ยนทัศนคติเจ้าหน้าที่ ตลอดจนรูปบริหาร และการแก้ไขพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวงทบวงกรม เพื่อจัดตั้งกรมในแผนขั้นที่ สอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2504 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงเกษตรเสนอ

ต่อมาก็ได้มีคำสั่งกระทรวงเกษตรตั้งสำนักงาน ส่งเสริมการเกษตรขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2505 เพื่อเตรียมการต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว และก็ได้ปฏิบัติการ ในรูปงานส่งเสริมการเกษตรตามแนวใหม่ไปพลางพร้อมกันนั้น ก็ได้รายงานผลก้าวหน้าต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งคราว จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณา รายงานของสำนักงานส่งเสริมการเกษตรแล้วมีคำสั่งว่า น่าจะตั้ง เป็นกรมได้ และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีได้ทราบ ระยะนี้อธิบดีทุกกรม ก็ต้องรับภาระหนักในการประชุมปรึกษา เพื่อให้ได้สถาบันที่เหมาะสมและ ทันสมัย และพร้อมที่จะต้องชี้แจงเจ้าหน้าที่วิเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ กระทรวง การคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และคณะที่ปรึกษา ระเบียบบริหารทั้งระดับอนุกรรมการและกรรมการใหญ่ การแก้ไข ปรับปรุง ชี้แจง โต้ตอบได้ ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลที่สุดก็ผ่านการพิจารณา ของคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหาร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 แต่ให้เรียก ชื่อ กรมแพร่ขยายการเกษตร โดยโอนงานส่งเสริมการเกษตรจากทุกกรมใน สังกัดกระทรวงเกษตรมาร่วมอยู่ในกรมนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ให้เรียกพนักงานแพร่ ขยายจังหวัดและอำเภอ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหาร แล้ว ประธานคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารก็ได้นำเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แต่ข้อความในหนังสือชื่อกรมได้เปลี่ยนไปจาก กรมแพร่ขยายการเกษตร เป็นกรมบริการเกษตร ส่วนเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคให้ยุบกสิกรรมจังหวัด – อำเภอ เป็น เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบด้วยในหลักการ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 และต่อมา กระทรวงเกษตรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม เพื่อขออนุมัติและขอให้คณะที่ปรึกษากฎหมายช่วย พิจารณาก่อนส่งสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา พร้อมกันนั้นก็ได้ขอเปลี่ยนชื่อ กรมบริการเกษตร เป็น กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติและอนุมัติให้แก้ไขชื่อได้ตามที่กระทรวงเกษตรเสนอ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2510

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 เพื่อขอตั้ง กรมส่งเสริมการเกษตรนี้ ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2510 ที่ประชุมลงมติรับหลักการและได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายให้ ตั้งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2510

อำนาจและหน้าที่

  1. เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัย และพัฒนางานด้านการส่งเสริมการเกษตรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตผล สินค้าและบริการทางการเกษตรที่มีคุณภาพ
  2. จัดการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว และสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ สามารถดำเนินการแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม และยั่งยืน
  3. เสริมสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการทางการเกษตรได้ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
  4. ดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัณหาความต้องการของเกษตรกร ชุมชนเกษตรกรอย่างพอเพียง และบรรเทาภัยธรรมชาติ ฟื้นฟูหลังเกิดความเสียหายต่อกิจกรรมทางการเกษตร ทุกระดับอย่างบูรณาการ

หน่วยงานในสังกัด

โครงสร้างและหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร แบ่งส่วนราชการตาม พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

ส่วนกลาง

สำนักงานเลขานุการกรมกองการเจ้าหน้าที่กองคลังกองแผนงานกองพัฒนาการเกษตรพื้นที่เฉพาะกองพัฒนาเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร

ส่วนภูมิภาค

  • สำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานครและจังหวัด 76 แห่ง
  • สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต 9 แห่ง และอำเภอ 878 แห่ง