“ ศรีสะเกษ เดินหน้าขับเคลื่อนวาระจังหวัดศรีสะเกษ เกษตรบูรณาการ ชนิดสินค้าทุเรียน ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรมูลค่าสูง กิจกรรม “ตัดลูก ตัดใจ ใส่ใจผู้บริโภค”

วันนี้(17 มีนาคม 2565) ณ สวนโชคผดุงทรัพย์ เจือจันทึก  หมู่ 8  ตำบลพราน  อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ  นายวัฒนา  พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน นำหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรมูลค่าสูง กิจกรรม “ตัดลูก ตัดใจ ใส่ใจผู้บริโภค”    นายวิชัย   ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า  ตามที่จังหวัดศรีสะเกษ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรนำพาพี่น้องประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดี โดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดผ่านวาระขับเคลื่อนจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเศรษฐกิจฐานราก ดังคำว่า “อะไร อะไร ก็ดี ที่ศรีสะเกษ” ผ่านวาระด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง 1 ในนั้น คือวาระเกษตรบูรณาการ เป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 4 ชนิด คือ ข้าว ทุเรียน หอมแดง และพริก

“ทุเรียน” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้จังหวัดศรีสะเกษจำนวนมาก มีอัตลักษณ์เฉพาะและอร่อยกว่าทุเรียนจากแหล่งอื่น เนื่อนุ่ม รสชาติดี ไม่แฉะติดมือ พูสวย กลิ่นไม่แรง ในปี พ.ศ. 2565  พื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จำนวน 14,828 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 5,596 ไร่  คาดการณ์ผลผลิตประมาณ 8,200 ตัน ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟส่วนใหญ่ คือ แรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับจำนวนพื้นที่และปริมาณผลผลิตทุเรียนมีปริมาณมาก เกษตรกรอาจจะไม่สามารถตรวจสอบ หรือดูแลการเจริญเติบโตของผลทุเรียนอย่างครบถ้วน อันจะส่งผลต่อคุณภาพและรสชาติทุเรียนที่อาจจะไม่สามารถระบุวันเก็บเกี่ยวได้

          เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตทุเรียนได้อย่างมีคุณภาพ ปี 2565 จังหวัดศรีสะเกษ ได้สนับสนุนและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีผสมผสานกับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่เกษตรกรสั่งสมมา ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนากระบวนการผลิต สร้างความแตกต่างตลอดห่วงโซ่อุปทานให้แก่เกษตรกร รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปผลผลิตที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยการจัดทำระบบข้อมูล เพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการบริหารจัดการผลผลิตให้ทันต่อสถานการณ์ การใช้โดรนพ่นเชื่อราไตรโคเดอร์มา การใช้รถแอร์บรัสพ่นหมอก การใช้รถตัดหญ้า เพื่อลดแรงงานประหยัดเวลา ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้เกิดความแม่นยำ มีปริมาณเพียงพอและคุณภาพที่ดี การส่งเสริมการตลาดออนไลน์เชิงรุก ที่สนองตอบค่อพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม ทันตามเทคโนโลยี และที่สำคัญจะทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหนายสินค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย

        สำหรับกิจกรรม “ตัดลูก ตัดใจ ใส่ใจผู้บริโภค” มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นกิจกรรมรณรงค์ให้เกษตรกรดูแลจัดการทุเรียนให้มีคุณภาพ โดยการตัดลูกส่วนเกิน แต่เหลือลูกไว้อย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการ  และเพื่อเป็นการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบและมั่นใจทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ได้รับการดูแล เอาใจใส่ และเป็นทุเรียนเกรดพีเมียมอย่างแท้จริง  กิจกรรมประกอบด้วยไปด้วย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริหารจัดการทุเรียนภูเขาไฟคุณภาพ การจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อการบริหารจัดการ การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ การพัฒนาตลาดทุเรียนภูเขาไฟออนไลน์ และการพัฒนาทุเรียนพันธุ์ใหม่  พิธีมอบต้นพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ไหม่ “ศรีสะเกษ 238 “ จำนวน 24 ราย  พิธีมอบใบอนุญาตการใช้ตราสัญลักษณ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI จำนวน 10 ราย  จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะฯ “ตัดลูก ตัดใจ ใส่ใจผู้บริโภค” พร้อมกับปลูกต้นทุเรียน สายพันธ์ใหม่ “ศรีสะเกษ 238”

งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่(Field Day)

  นายพรชัย วงศ์งาม นายอำเภอขุนหาญ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่(Field Day) และกิจกรรมสู่ขวัญทุเรียนดินภูเขาไฟอำเภอขุนหาญ   ณ สวนเวียง สุภาพ ทุเรียนภูเขาไฟ บ้านซำขี้เหล็ก หมู่ที่ 10 ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

โดยนายจันทร์ ก้อนทอง เกษตรอำเภอขุนหาญได้กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ การตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้บริการทางการเกษตรและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่และเป็นการประชาสัมพันธ์ทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเกษตรกรได้นำทุเรียนมาปลูกในพื้นที่อำเภอขุนหาญจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณปี พ.ศ.2528     มีต้นทุเรียนอายุเก่าแก่กว่า 30 ปี โดยเกษตรกรที่ไปรับจ้างทำสวนในภาคตะวันออกนำต้นทุเรียนกลับมาปลูกที่อำเภอขุนหาญ และส่วนราชการได้เข้าร่วมสนับสนุน ปรากฏว่า ทุเรียนเจริญเติบโตเร็วให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี เนื่องจากดินแหล่งที่ปลูกนี้เป็นดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลล์ มีธาตุชนิดต่างๆที่จำเป็นต่อพืชปริมาณสูงและครบถ้วน  ทำให้ทุเรียนมีคุณสมบัติดีเด่นและมีคุณสมบัติเฉพาะคือ  เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน จึงทำให้ผู้ได้ลิ้มชิมรสแล้วรู้ถึงรสชาติที่อร่อยไม่เหมือนใคร อาจกล่าวได้ว่าเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย  ดังนั้นอำเภอขุนหาญจึงได้จัดงานนี้ขึ้น

วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้

  1. เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน
  2. เพื่อรักษาชื่อเสียงความเป็นทุเรียนดินภูเขาไฟให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
  3. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของทุเรียนภูเขาไฟให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
  4. เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชมีคุณที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดจึงต้องมีกิจกรรมสู่ขวัญทุเรียน